คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 903/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยส่งสินค้าที่มีคุณภาพชำรุดบกพร่องถึงขนาดที่โจทก์ไม่อาจนำไปขายต่อได้ เป็นการผิดสัญญา จำเลยต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าว โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215,287, 391 และ 472
ค่าขนส่งสินค้าจากกรุงเทพมหานครไปยังที่ทำการของโจทก์ในต่างประเทศ ค่าประกันภัยสินค้า ค่าภาษีขาเข้าและค่านำสินค้าดังกล่าวออกจากด่านศุลกากร ล้วนเป็นค่าเสียหายพิเศษซึ่งจำเลยควรจะคาดคิดล่วงหน้าได้ว่าโจทก์จำเป็นต้องเสีย จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าเสียหายนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสองส่วนค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สินค้าของกลางที่ชำรุดบกพร่อง เมื่อปรากฏกรรมการซึ่งมีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยไม่ยอมรับรู้ข้อตกลงในเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสินค้าดังกล่าว จึงเป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ฝ่ายเดียว จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ซึ่งทำด้วยไม้สักจากจำเลยเพื่อนำไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกา ตกลงให้ส่งมอบสินค้า ณ ที่ทำการของโจทก์ในรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยทำผิดสัญญาส่งสินค้าที่ชำรุดบกพร่องแตกหักเสียหายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนมาก ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้วเห็นว่าการชำรุดบกพร่อง เกิดจากการผลิตสินค้าที่ใช้กาวที่ไม่มีคุณภาพดีพอมาประกอบขึ้น โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลย ขอศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ราคาสินค้าค่าขนส่ง ค่าประกันภัยสินค้า ค่าภาษีอากรขาเข้า ค่านำสินค้าออกจากศุลกากรและค่าใช้จ่ายในการที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสินค้ารวมค่าเสียหายและค่าสินค้าที่จำเลยจะต้องคืนเป็นเงิน 65,702.91 บาท ขอศาลบังคับให้จำเลยใช้เงิน65,702.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นวินิจฉัย โจทก์ตั้งรูปคดีฟ้องร้องเป็นเรื่องใช้สิทธิเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ซึ่งไม่ตรงกับรูปเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สิทธิเลิกสัญญานั้นจะมีได้โดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386ในเรื่องนี้โจทก์จำเลยไม่มีข้อสัญญาที่จะก่อให้เกิดสิทธิเลิกสัญญาได้ ดังนั้นการใช้สิทธิเลิกสัญญาของโจทก์จะมีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 ถึงมาตรา 391 แต่คดีนี้มีปัญหาเฉพาะมาตรา 387 ซึ่งควรจะบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรานี้จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ขายไม่ชำระหนี้หรือชำระผิดจากความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ในส่วนสารสำคัญ แต่โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดว่า ส่วนที่ชำรุดบกพร่องนี้มีจำนวนมากถึงขนาดที่จะถือได้ว่า จำเลยไม่ชำระหนี้ และเป็นมูลที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา 387 โจทก์ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่า โจทก์จำเลยเคยติดต่อซื้อขายสินค้าประเภทของใช้ในบ้านทำด้วยไม้สักหลายครั้ง ทุกครั้งก็เรียบร้อยเว้นแต่ครั้งสุดท้ายที่พิพาทกันนี้ แสดงว่า โจทก์จำเลยรู้ความมุ่งหมายของกันและกันว่า โจทก์ซื้อสินค้าเหล่านี้จากจำเลยก็เพื่อจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าที่จำเลยส่งไปถึงโจทก์นั้นเกิดการชำรุดบกพร่อง กล่าวคือ เขียงไม้สำหรับใช้หั่นเนยนั้น ใช้ชิ้นไม้สักเล็ก ๆประกบติดกัน แต่มีการแยกของชิ้นไม้สักเล็ก ๆ เหล่านั้นออกจากกัน เนื่องจากการใช้กาวที่ไม่มีคุณภาพดีมาใช้ผลิต ดังปรากฏข้อความละเอียดในการพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญตามเอกสารหมาย จ.10 จากข้อความในเอกสาร จ.9, จ.12 ซึ่งเป็นจดหมายติดต่อระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับการเสียหายของสินค้ารายนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยก็ทราบในเรื่องที่โจทก์ให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์สินค้าของจำเลย แต่จำเลยไม่ประสงค์ให้พิสูจน์สินค้าเหล่านั้นอีก สินค้าเหล่านี้จากรายงานการตรวจของผู้ตรวจสอบสินค้าทางทะเลตามเอกสารหมาย จ.4 แสดงว่าสินค้าที่ชำรุดบกพร่องมีมาก เป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือขายไม่ได้ในสหรัฐอเมริกาอันเป็นความมุ่งหมายของโจทก์ในการซื้อสินค้าเหล่านั้น ซึ่งจำเลยก็ทราบ เห็นว่าจำเลยจะต้องรับผิดในการชำรุดบกพร่องในสินค้าเหล่านั้น และโจทก์มีอำนาจบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215,287, 391, 472

สำหรับความเสียหาย ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องขอให้เลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินราคาสินค้าที่โจทก์ชำระไปแล้ว แต่โจทก์ก็จำต้องคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 นั้น แก่จำเลย แต่ตามข้อความในเอกสารหมาย จ.9 และ จ.12 ซึ่งเป็นจดหมายของโจทก์จำเลย แสดงว่าโจทก์ได้เสนอขอคืนสินค้าแล้วซึ่งจำเลยก็ได้ตอบไป และเสนอเงื่อนไขใหม่ แต่โจทก์มิได้สนองรับกลับบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 เมื่อคดีฟังได้ดังกล่าวศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยคืนเงินราคาสินค้าที่จำเลยรับไปจากโจทก์ ส่วนค่าเสียหายอย่างอื่นนั้น โจทก์ได้ชำระค่าขนส่งสินค้าดังกล่าวจากกรุงเทพฯ มาถึงที่ทำการของโจทก์รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าประกันภัยสินค้า ค่าภาษีขาเข้า ค่านำสินค้าออกจากด่านศุลกากร รวมเป็นจำนวนเงิน 19,026.13 บาทนับว่าเป็นค่าเสียหายพิเศษ ซึ่งจำเลยควรจะได้คาดคิดล่วงหน้าได้ว่า โจทก์จำเป็นต้องเสีย เพื่อจะได้นำสินค้าที่ซื้อจากจำเลยไปยังที่ทำการของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง ส่วนค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สินค้าของกลางที่ชำรุดบกพร่อง จากข้อความในเอกสารหมาย จ.9, จ.12แสดงว่านายบุญญะวันต์กรรมการซึ่งมีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท จำเลยไม่ยอมรับรู้ข้อตกลงในเรื่องผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสินค้าเหล่านี้ ฉะนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ฝ่ายเดียว จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้หาได้ไม่ เมื่อรวมเงินค่าสินค้าซึ่งจำเลยจะต้องคืนและค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้ดังศาลฎีกาได้วินิจฉัยมา เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริง แต่มีบางรายการไม่สมควรให้จำเลยชดใช้แทน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษากลับ ให้จำเลยชดใช้ราคาสินค้าและค่าเสียหายเป็นเงิน63,676.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

Share