แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า (ภ.ด.(พ) 4) ทำให้ภาษีการค้าขาดไป ไม่ใช่กรณียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าแล้วยื่นไม่ครบแต่ประการใด แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยในกรณีความผิดที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรอันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ทวิ หาใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าอันเป็นเท็จโดยวิธียื่นขาดไปไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 37 ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยื่นเสียภาษีการค้าตลอดมาทุกเดือน เพียงแต่บางเดือนจำเลยยื่นไม่ครบ บางเดือนก็ยื่นเกินกว่ารายรับ จึงเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ลงโทษจำเลยมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๐๗ ทะเบียนเลขที่ ๑๙๓/๒๕๐๗ มีวัตถุประสงค์รับเหมาก่อสร้าง
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัวได้บังอาจร่วมกันเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรฝ่ายสรรพากร คือ
๑. จำเลยบังอาจร่วมกันยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.๕) ขาดไป คิดเป็นเงินภาษีที่ขาดรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ๓๓๘,๗๘๔ บาท ๑๒ สตางค์
๒. เมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๙ ระหว่างวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๐ ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๐ และระหว่างวันที่ ๑๕ มกราคม ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๑ เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยบังอาจร่วมกันไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า ภ.ด. (พ) ๔ สำหรับรายได้การค้าจำนวนเงิน ๓,๑๕๗,๘๙๕ บาท ๖๔ สตางค์ ๒,๓๓๗,๔๔๐.๐๐ บาท และ ๒,๔๘๙,๐๗๘ บาท ๕๐ สตางค์ ตามลำดับ ทำให้ภาษีการค้าขาดไปรวมทั้งค่าภาษีบำรุงเทศบาล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน ๖๐,๑๐๗ บาท ๔๙ สตางค์ ๑๑๐,๒๑๕ บาท ๓๕ สตางค์ และ ๑๘,๗๒๖ บาท ๐๙ สตางค์ ตามลำดับ รวม ๓ ปี จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าเป็นเงิน ๗,๙๗๕,๔๑๔ บาท ๑๔ สตางค์ คิดเป็นภาษีการค้าที่ขาดรวมทั้งภาษีบำรุงเทศบาล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม เป็นเงิน ๑๘๙,๐๔๙ บาท ๙๓ สตางค์
๓. เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑ เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยบังอาจร่วมกันมีตราสารใบรับมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ไว้ในความครอบครองหลายฉบับ ทำให้อากรแสตมป์ขาดไป รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน ๒๘ บาท
รวมทั้งหมดทำให้กรมสรรพากรต้องขาดภาษีอากรไปคิดเป็นเงิน ๕๑๗,๘๘๐ บาท ๙๕ สตางค์ กรมสรรพากรได้ออกหมายเรียกจำเลยให้ชำระภาษีอากรดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงได้ประเมินและส่งแบบแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๔๘๑ มาตรา ๓๗, ๓๗ ทวิ , ๕๔, ๕๖, ๕๘, ๖๕, ๘๔, ๘๖ ทวิ, ๑๐๔, ๑๒๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๔๙๗ (ฉบับที่ ๑๑) มาตรา ๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๐๒ (ฉบับที่ ๑๖) มาตรา ๑๔, ๑๕, ๒๓, ๓๐, ๕๒ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๘
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องเฉพาะที่เกี่ยวกับกรณีหลีกเลี่ยงภาษีการค้าไว้ในข้อ (๒) นั้นล้วนแต่เป็นการหลีกเลี่ยงโดยวิธีไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า (ภ.ด.(พ) ๔) ทำให้ภาษีการค้าขาดไปทั้งสิ้น ไม่ใช่กรณียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าแล้วยื่นไม่ครบแต่ประการใดเลย แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยในกรณีความผิดที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอันเป็นความผิดตามมาตรา ๓๗ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าอันเป็นเท็จโดยวิธียื่นขาดไปไม่ครบถ้วนซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลรัษฎากรไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าระยะตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๐๙ ถึง เมษายน ๒๕๑๐ ซึ่งจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่กระทำการในนามของจำเลยที่ ๑ อยู่ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๐๙ ได้มีการยื่นเสียภาษีการค้าตลอดมาทุกเดือน เพียงแต่บางเดือนจำเลยยื่นไม่ครบ บางเดือนก็ยื่นเกินกว่ารายรับ ดังนี้ จึงเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ลงโทษจำเลยมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน