คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9018/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งตามคำฟ้องและจากการตรวจสอบของโจทก์ทั้งสามว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่ตนเองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์มรดกอื่นอีก ดังนี้ ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182 (4) โดยไม่จำต้องทำการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อน และการที่ทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ทั้งสามก็ฟ้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชู ได้โอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 1 หมู่ที่ 7 ตำบลบางปลาร้า อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี อันเป็นทรัพย์มรดกของนายชู ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิชอบ วันที่ 29 กันยายน 2535 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่นางเมี้ยน และวันที่ 17 มีนาคม 2536 นางเมี้ยนได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นหลานผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายจำนงค์ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชูได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับส่วนแบ่งมรดก ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนวันที่ 10 สิงหาคม 2535 วันที่ 29 กันยายน 2535 และวันที่ 17 มีนาคม 2536 ในสารบัญท้ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1 หมู่ที่ 7 ตำบลปลาร้า อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวคืนแก่กองมรดกของนายชู และให้จำเลยที่ 1 จัดการแบ่งแยกแก่โจทก์ทั้งสาม เนื้อที่ประมาณ 201 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ) ให้ถือว่าสูญหาย ขอให้สั่งเจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินฉบับเดิม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เพราะไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2535 ซึ่งจำเลยที่ 1 โอนที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่ภริยานายชูก่อนโอนมาเป็นของจำเลยที่ 2 และขาดอายุความเพราะโจทก์ทั้งสามไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีหรือ 10 ปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2530 ซึ่งนายชู เจ้ามรดกตาย สิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีไม่เกิน 83 ตารางวา ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายโดยยังมิได้มีการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อนนั้นชอบหรือไม่ และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า นายชู เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง ระหว่างการพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีเพื่อให้โจทก์ทั้งสามตรวจสอบหาทรัพย์มรดกอื่นของเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสามตรวจสอบแล้วแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า พบเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่ตนเองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินมรดกอื่นอีก ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182 (4) โดยไม่จำต้องทำการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อน และการที่ทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้วเมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ทั้งสามก็ต้องฟ้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535 คือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 เกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share