แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเอกชนกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ผู้ดำเนินการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สื่อสารมวลชนที่ประชาชนสามารถรับชมรายการโทรทัศน์สาธารณะทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๓ ช่อง ๕ และช่อง ๙ โดยไม่เสียค่าบริการ ได้ระงับการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ ตามที่จำเลยที่ ๔ ผู้จัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ และเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวมีหนังสือขอความร่วมมือ ทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจรับชมการถ่ายทอดสดผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ดำเนินการแพร่ภาพและกระจายเสียงรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าในจำนวนเงินเท่ากับราคากล่องรับสัญญาณดาวเทียม และให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายเชิงลงโทษ กับให้มีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๑ เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเป็นการฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในฐานะผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่แม้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะเป็นผู้ประกอบกิจการที่เข้ามาใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ แต่การดำเนินกิจการดังกล่าวก็เป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายเวลาในช่วงโฆษณาให้แก่เอกชนเจ้าของสินค้าและบริการ อันเป็นการประกอบกิจการเพื่อการค้า มิได้ใช้อำนาจทางปกครอง นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ กับโจทก์ทั้งห้าที่มิได้มีการใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจึงเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่ง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาททางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๕๗
วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ที่ ๑ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ที่ ๒ นางสาวเรณู ภู่อาวรณ์ ที่ ๓ นายขวัญมนัส พูลมิน ที่ ๔ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ที่ ๕ โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ กองทัพบก ที่ ๒ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ ๑๘๔๑/๒๕๕๕ ความว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นผู้ดำเนินการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สื่อสารมวลชน โดยส่งสัญญาณภาพและเสียงในระบบภาคพื้นดิน (Analog) ที่ประชาชนสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ (ระบบฟรีทีวี) โดยใช้เสาอากาศที่ติดมากับเครื่องรับโทรทัศน์ (เสาหนวดกุ้ง) หรือ
ติดตั้งเสารับสัญญาณ (เสาก้างปลา) เพื่อรับชมได้โดยไม่เสียค่าบริการ และในปัจจุบันจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้เพิ่มช่องทางการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมควบคู่ไปกับระบบภาคพื้นดินซึ่งมีทั้งรูปแบบที่มีการเรียกเก็บค่าบริการและไม่เรียกเก็บค่าบริการและยังคงมีรายการโทรทัศน์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ รวมอยู่ด้วย โจทก์ทั้งห้าจึงซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อให้รับชมรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางฟรีทีวีของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อมาจำเลยที่ ๔ ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ครั้งที่ ๑๔ หรือยูโร ๒๐๑๒ โดยมีเจตนาแพร่ภาพและเสียงผ่านสถานีโทรทัศน์สาธารณะ (ระบบฟรีทีวี) ช่อง ๓ ช่อง ๕ และช่อง ๙ และผ่านเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ ที่จำเลยที่ ๔ เป็นผู้จัดจำหน่าย เมื่อถึงวันที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงระงับการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลตามที่จำเลยที่ ๔ มีหนังสือขอความร่วมมือ ทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจรับชมการกระจายเสียงและแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมได้ อีกทั้งไม่มีรายการโทรทัศน์อื่นให้ได้รับชมแทนรายการถ่ายทอดสดดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นการสมคบกันทำธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภคเพื่อให้ได้มาซึ่งการขยายฐานลูกค้าและช่องทางการจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ผิดสัญญาการให้บริการสาธารณะในการแพร่ภาพและกระจายเสียง และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ชองผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการแพร่ภาพและกระจายเสียงรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลผ่านระบบภาคพื้นดินหรือระบบอื่นใดหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมรายการผ่านการรับสัญญาณทุกประเภทก่อนการแข่งขันฟุตบอลจะสิ้นสุดในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงิน ๑,๕๙๐ บาท หรือในจำนวนเงินเท่ากับกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ และให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายเชิงลงโทษ ให้มีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ มาตร ๖๑
โจทก์ทั้งห้ายื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ให้ดำเนินการแพร่ภาพและกระจายเสียงรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ ผ่านระบบภาคพื้นดินหรือระบบจานรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมรายการผ่านการรับสัญญาณทุกประเภทก่อนการแข่งขันฟุตบอลจะสิ้นสุดในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ระหว่างการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดวิธีการหรือมาตรการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้ โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่าผิดสัญญาจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ประกอบกับโจทก์ทั้งห้ามีคำขอให้ศาลแนะนำไปยังรัฐบาลเพื่อเร่งรัดการจัดตั้งองค์กรอิสระก็เป็นการขอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจตามกฎหมาย และเป็นการฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่าดำเนินการตามกฎหมายโดยละเลยหรือล่าช้า จึงเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาข้ออ้างตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งห้าประสงค์จะฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีผู้บริโภค ขอให้ศาลวินิจฉัยการกระทำของจำเลยทั้งสี่ว่าร่วมกันประกอบธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ และมีลักษณะเป็นการแข่งขันทางธุรกิจโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นการฟ้องตามเจตนารมณ์และหลักการของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ลักษณะของการกระทำตามฟ้อง ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครองของจำเลยที่ ๒ ไม่ใช่การฟ้องว่าละเลยต่อหน้าที่ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องมีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และมิได้ฟ้องเกี่ยวกับความรับผิดของฝ่ายปกครองจากการกระทำละเมิดทางปกครองหรือความรับผิดอย่างอื่นจึงมิใช่คดีพิพาททางปกครอง แม้โจทก์ทั้งห้าจะฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ผิดสัญญารับบริการกระจายเสียงและแพร่ภาพโทรทัศน์ต่อโจทก์ทั้งห้า และแม้ว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม จะเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ทั้งห้ามิได้ฟ้องขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญา หากแต่เป็นการฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจร่วมกับจำเลยที่ ๔ ประกอบธุรกิจโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งห้ามุ่งประสงค์จะฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓ (๑) ได้กำหนดบทนิยามไว้ว่า “คดีผู้บริโภค คือ คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา ๑๙ หรือตามกฎหมายอื่นกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ” เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากการให้บริการ จึงเป็นข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งมีกฎหมายวิธีสบัญญัติและสารบัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะคือ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ เมื่อมูลเหตุพิพาทที่อ้างตามคำฟ้องเกิดจากการที่จำเลยที่ ๒ กระทำการในฐานะผู้ประกอบธุรกิจร่วมกับเอกชนกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้า จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิทธิของโจทก์ทั้งห้าในฐานะผู้บริโภคและสิทธิของผู้บริโภคอื่นโดยรวมและเป็นการตรวจสอบจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มิใช่การฟ้องคดีเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ประกอบกับหากพิจารณาบทบัญญัติมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติต้องการให้คดีพิพาทที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะเรื่อง แม้จะมีลักษณะเป็นคดีปกครองก็ต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลชำนัญพิเศษนั้นๆ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายเปิดช่องไว้สำหรับกรณีที่จะมีการจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษอื่นขึ้นในอนาคตอีกด้วย เมื่อพิจารณาคดีพิพาทคดีนี้ซึ่งมีลักษณะเป็นคดีผู้บริโภคและโจทก์ทั้งห้าฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลแพ่ง แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลขึ้นสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคโดยเฉพาะดังเช่นศาลชำนัญพิเศษอื่น แต่เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีระบบวิธีพิจารณาความและการดำเนินการทางธุรการคดีแยกต่างหากจากคดีแพ่งทั่วไป ไม่ต่างจากศาลชำนัญพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเพื่อพิจารณาคดีผู้บริโภคจากศาลชั้นต้นโดยเฉพาะเช่นเดียวกับแผนกคดีของศาลชำนัญพิเศษอื่น เมื่อพิจารณาความเชี่ยวชาญและเจตนารมณ์ของกฎหมายดังที่กล่าวมา จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง ส่วนคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังรัฐบาลเพื่อเร่งรัดการจัดตั้งองค์กรอิสระนั้น ไม่ว่าศาลแพ่งจะมีอำนาจออกคำสั่งหรือคำบังคับตามคำขอดังกล่าวได้หรือไม่ ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาเป็นหลักในการวินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแพ่ง หากข้ออ้างในคำฟ้องมีลักษณะเป็นคดีแพ่ง นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้ายังมีคำขออื่นที่ขอให้ศาลเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งห้าอย่างชัดเจน เช่น การชดใช้ค่าเสียหายและการขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายในเชิงลงโทษซึ่งเป็นคำขอที่มีลักษณะพิเศษที่อยู่ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ เท่านั้น คดีนี้จึงไม่ใช่คดีปกครอง แต่เป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งห้าในฐานะประชาชนที่มีสิทธิรับชมรายการโทรทัศน์จากสถานีโทรทัศน์สาธารณะ (ฟรีทีวี) หรือเข้าถึงสื่อสาธารณะของรัฐอันเป็นบริการสาธารณะฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางปกครอง ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ โดยให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไปอันเป็นบริการสาธารณะด้านกิจการโทรทัศน์ซึ่งเป็นภารกิจอย่างหนึ่งของรัฐ มีหน้าที่จะต้องให้บริการโทรทัศน์ขั้นพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ แพร่ภาพและเสียงเป็นการทั่วไปอย่างทั่วถึงทุกช่องทางทั้งในระบบภาคพื้นดิน ระบบสัญญาณดาวเทียมหรือระบบอื่นใด และอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ถูกจำกัดหรือปิดกั้นช่องทางในการรับชมรายการโทรทัศน์ตามหลักการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐที่จะต้องมีความต่อเนื่องและความเสมอภาค แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ละเลยต่อหน้าที่ในการแพร่ภาพและเสียงรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์สาธารณะ โดยการระงับการแพร่ภาพและเสียงการถ่ายทอดสดรายการดังกล่าวในระบบผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม อันเป็นการกระทำที่จำกัดสิทธิของโจทก์ทั้งห้าที่เป็นผู้รับบริการโทรทัศน์ในระบบสัญญาณดาวเทียมและอยู่ในฐานะประชาชนที่มีสิทธิเข้าถึงสื่อสาธารณะของรัฐซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้รับบริการโทรทัศน์ในระบบสัญญาณดาวเทียม อีกทั้งเป็นการสร้างภาระให้แก่โจทก์ทั้งห้าเกินสมควรที่จะต้องจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติมในการรับชมรายการดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ ๔ แม้จะเป็นเอกชน แต่การฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๔ ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คดีระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ ๔ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน ส่วนที่โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องว่าคดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค เมื่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มิใช่กฎหมายจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษเป็นเพียงกฎหมายวิธีสบัญญัติที่กำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในคดีแพ่งที่มีลักษณะเป็นคดีผู้บริโภคตามบทนิยามในมาตรา ๓ ที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายด้วยความรวดเร็วกว่าการพิจารณาคดีแพ่งทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น ซึ่งคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นคดีแพ่งที่พิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าและบริการ แต่การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ที่ให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป เป็นการจัดทำบริการสาธารณะที่เป็นภารกิจอย่างหนึ่งของรัฐ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงมิได้มีฐานะเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่มีฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองเกี่ยวกับการให้บริการโทรทัศน์ขั้นพื้นฐาน มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง โจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงมิได้มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในคดีนี้จึงไม่อาจเป็นข้อพิพาทในทางแพ่งซึ่งมีลักษณะเป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และการจะนำคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองไปเป็นคดีผู้บริโภคซึ่งเป็นคดีแพ่งไม่อาจกระทำได้ เพราะจะเป็นการขัดบทบัญญัติมาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งคดีปกครองและคดีแพ่งมีวิธีพิจารณาคดีที่แตกต่างกัน ทั้งการดำเนินกิจการทางปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะยังมีแนวคิด หลักการ และข้อกฎหมายที่แตกต่างไปจากการประกอบธุรกิจในทางแพ่ง ศาลที่จะมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะที่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครองจึงได้แก่ ศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้เป็นกรณีโจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ผู้ดำเนินการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สื่อสารมวลชนที่ประชาชนสามารถรับชมรายการโทรทัศน์สาธารณะทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๓ ช่อง ๕ และช่อง ๙ โดยไม่เสียค่าบริการ ได้ระงับการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ ตามที่จำเลยที่ ๔ ผู้จัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ และเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวมีหนังสือขอความร่วมมือ ทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจรับชมการถ่ายทอดสดผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมได้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคเพื่อให้ได้มาซึ่งการขยายฐานลูกค้าและช่องทางการจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของจำเลยที่ ๔ เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ผิดสัญญาการให้บริการสาธารณะในการแพร่ภาพและกระจายเสียง และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ดำเนินการแพร่ภาพและกระจายเสียงรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าในจำนวนเงินเท่ากับราคากล่องรับสัญญาณดาวเทียม และให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายเชิงลงโทษ กับให้มีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๑ เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเป็นการฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในฐานะผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่แม้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะเป็นผู้ประกอบกิจการที่เข้ามาใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติแต่การดำเนินกิจการดังกล่าวก็เป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายเวลาในช่วงโฆษณาให้แก่เอกชนเจ้าของสินค้าและบริการ อันเป็นการประกอบกิจการเพื่อการค้า มิได้ใช้อำนาจทางปกครอง นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ กับโจทก์ทั้งห้าที่มิได้มีการใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจึงเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่ง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาททางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาททางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ที่ ๑ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ที่ ๒ นางสาวเรณู ภู่อาวรณ์ ที่ ๓ นายขวัญมนัส พูลมิน ที่ ๔ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ที่ ๕ โจทก์ บริษัทบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ กองทัพบก ที่ ๒ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ