คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4305/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ความผิดฐานฉ้อโกง และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันรับของโจร การที่จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดมาโดยตลอด แต่กลับฎีกาโดยให้การรับสารภาพว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่นำแคชเชียร์เช็คไปฝากเข้าบัญชีธนาคารโดยเปิดบัญชีใหม่ทั้งที่จำเลยที่ 3 มีบัญชีอยู่แล้ว หลังจากนั้นมีการโอนเงินให้จำเลยที่ 1 และในวันรุ่งขึ้นถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมดและปิดบัญชีทันทีนั้น เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบดีว่าแคชเชียร์เช็คที่รับมาดำเนินการเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาจากการกระทำความผิดและนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น ถือได้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคแรก ประกอบมาตรา 225
จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการเสนอขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านไม้สักสามชั้นของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ ความจริงแล้วที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายฝากไม่ใช่แปลงที่จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดู โจทก์ตกลงทำสัญญาซื้อฝากที่ดินได้มอบแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 หรือผู้ถือแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับเงินตามวัตถุประสงค์สุดท้าย แคชเชียร์เช็คจึงเป็นเพียงทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาโดยในขั้นตอนการพยายามกระทำความผิด ไม่ใช่ความผิดสำเร็จฐานฉ้อโกง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 รับแคชเชียร์เช็คจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาแล้วนำไปขึ้นเงินจากธนาคารเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สุดท้ายคือเงินที่ได้จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง การที่จำเลยที่ 3 รับแคชเชียร์เช็คไว้แล้วนำไปฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่การกระทำความผิดฐานรับของโจร แต่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดในฐานะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกง การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในข้อหารับของโจร แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง จึงไม่ใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันจะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีนี้ถึงที่สุดก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ในระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา คดียังไม่ถึงที่สุด และจำเลยที่ 3 ไม่ได้คัดค้าน จึงเป็นการถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 357, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 หลบหนีและยังจับตัวไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ให้จำคุก 1 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 9 เดือน
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสาม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นพี่น้องกัน จำเลยที่ 2 เป็นน้องสะใภ้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 131509 ในราคา 5,000,000 บาท มีกำหนด 6 เดือน โดยชำระเป็นเงินสด 1,400,000 บาท และแคชเชียร์เช็ค 3,600,000 บาท จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท รวม 300,000 บาท ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ ในวันเดียวกัน จำเลยที่ 3 เปิดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารามอินทรา กม.4.5 นำแคชเชียร์เช็คดังกล่าวเข้าบัญชีแล้วถอนเงินออกจากบัญชีรวม 2,200,000 บาท วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 3 ถอนเงินที่เหลือทั้งหมดออกจากบัญชีดังกล่าว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาในทำนองว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 มีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้นำแคชเชียร์เช็คซึ่งได้จากการฉ้อโกงไปเข้าบัญชีธนาคารแล้วถอนเป็นเงินสดออกมา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะได้เงินจากการฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงโจทก์ เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดมาโดยตลอด แต่กลับฎีกาโดยให้การรับสารภาพว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะให้การปฏิเสธและนำสืบในชั้นพิจารณาทำนองว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คไปฝากให้จำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 โทรศัพท์มาหา อ้างว่าจำเลยที่ 1 มีธุระเร่งด่วนต้องไปทำ จำเลยที่ 3 จึงเปิดบัญชีใหม่เพื่อต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ หลังจากนั้นมีการเบิกเงินและโอนเงินคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งหมด จำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมวางแผนหรือรู้เห็นกับการฉ้อโกงโจทก์มาตั้งแต่ต้นก็ตาม แต่การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่นำแคชเชียร์เช็คไปฝากเข้าบัญชีธนาคารโดยเปิดบัญชีใหม่ทั้งที่จำเลยที่ 3 มีบัญชีอยู่แล้ว หลังจากนั้นมีการโอนเงินให้จำเลยที่ 1 และในวันรุ่งขึ้นถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมดและปิดบัญชีทันทีนั้น เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบดีว่าแคชเชียร์เช็คที่รับมาดำเนินการเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาจากการกระทำความผิดและนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น ถือได้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคแรก ประกอบมาตรา 225
สำหรับปัญหาว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือฐานฉ้อโกงนั้น เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องมีการหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นเป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลอื่น ดังนั้นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลอื่นจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความผิดฐานนี้ คดีนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้ทำสัญญาซื้อฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีราคาสูงกว่าความเป็นจริง โดยมีวัตถุประสงค์สุดท้ายคือการได้เงินไปจากโจทก์ไม่ใช่สัญญาหรือแคชเชียร์เช็ค การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาแล้วมอบแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 หรือผู้ถือแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับเงินตามวัตถุประสงค์สุดท้าย แคชเชียร์เช็คจึงเป็นเพียงทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาโดยในขั้นตอนการพยายามกระทำความผิด ไม่ใช่ได้มาจากการกระทำความผิดสำเร็จฐานฉ้อโกง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 รับแคชเชียร์เช็คจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาแล้วนำไปขึ้นเงินจากธนาคารเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สุดท้ายคือเงินที่ได้จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง การที่จำเลยที่ 3 รับแคชเชียร์เช็คไว้แล้วนำไปฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่การกระทำความผิดฐานรับของโจร ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดในฐานะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกง การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในข้อหารับของโจร แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงจึงไม่ใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันจะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีนี้ถึงที่สุดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคสอง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ในระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา คดียังไม่ถึงที่สุดและจำเลยที่ 3 ไม่ได้คัดค้าน จึงเป็นการถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share