แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ก่อนจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 128/2543 จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสภาพการจ้างของโจทก์โดยมาพบและสอบปากคำ อ. ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโจทก์และพนักงานอื่น ๆ ของโจทก์ก่อนมีคำสั่ง อันเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 27 และ 29 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้โจทก์มีโอกาสทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานในส่วนของโจทก์ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งแต่กรณีนี้เป็นเรื่องให้โจทก์ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งเป็นเรื่องความสงบในทางอุตสาหกรรม หากปล่อยเนิ่นช้าโดยให้โอกาสโจทก์ตามที่โจทก์อ้าง ย่อมเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ลูกจ้างและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) คำสั่งดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 128/2543 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้ตรวจสภาพการจ้างและการทำงาน ณ สถานประกอบการของโจทก์โดยสอบถามข้อเท็จจริงและตรวจสสอบเอกสารประกอบแล้ว ปรากฎว่าโจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่ถูกต้องและไม่ตรงตามกำหนดและสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายเงินแก่ลูกจ้างซึ่งไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 70, 9 และ 75 อาศัยอำนาจตามมาตรา 139 (3) สั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ (1) ให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติให้ลูกจ้างที่สั่งพักงานและมิได้ทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ให้ถูกต้องครบถ้วนและตรงตามกำหนดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (2) ให้จ่ายเงินแก่ลูกจ้างที่สั่งพักงานและทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน โดยให้ปฏิบัติตาม (1) และ (2) ภายใน 7 วัน นับแต่รับคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวโจทก์ผู้รับคำสั่งย่อมทราบว่าจำเลยที่ 1 สั่งให้ปฏิบัติอย่างไร คำสั่งจึงมีความหมายชัดเจนตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 34 แล้ว แม้เหตุผลของคำสั่งจะมิได้มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) แต่การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้าง จึงถือเป็นการเร่งด่วนที่ไม่นำมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ ดังที่บัญญัติไว้ในวรรคสามของมาตรานี้
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 124 กำหนดเงื่อนไขการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงานไว้เป็นการเด็ดขาด เมื่อการพิจารณาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโดยการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่ง มิได้สั่งภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกนางสาวรสกรณ์ ว่าจำเลยที่ 1 และให้เรียกนางจำลอง ว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 128/2543 โดยคำสั่งทั้งสี่ฉบับบังคับให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและเงินกรณีต้องหยุดกิจการแก่ลูกจ้างของโจทก์คำสั่งทั้งสี่ฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งทั้งสี่ฉบับดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง นางสาวอรุณี ที่ 1 นางสาวบุปผา ที่ 2 นายสุเทพ ที่ 3 นางสาวพิมล ที่ 4 และนางไสว ที่ 5 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งห้าเป็นลูกจ้างโจทก์และมีสิทธิได้รับค้าจ้างและดอกเบี้ยตามคำสั่งที่ 114/2544 จึงขอเข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการแรกโดยโจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2 ว่า คดีสั่งที่ 128/2543 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 30 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ให้โอกาสโจทก์ชี้แจง ไม่รับฟังพยานหลักฐานใด ๆ จากโจทก์ และออกคำสั่งดังกล่าวอย่างเร่งรีบ เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่โจทก์อ้างมีบทบัญญัติ ดังนี้
มาตรา 27 ให้เจ้าหน้าที่แจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจำเป็นแก่กรณี
ถ้าคำขอหรือคำแถลงมีข้อบกพร่องหรือมีข้อความที่อ่านไม่เข้าใจหรือผิดหลงอันเห็นได้ชัดว่าเกิดจากความไม่รู้หรือความเลินล่อของคู่กรณี ให้เจ้าหน้าที่แนะนำให้คู่กรณีแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้อง
มาตรา 29 เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในการนี้ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แสวงหาพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง
(2) รับฟังพยานหลักฐาน คำชี้แจงหรือความเห็นของคู่กรณีหรือของพยานบุคคล หรือพยาน
ผู้เชี่ยวชาญที่คู่กรณีกล่าวอ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่จำเป็นฟุ่มเฟือย หรือเพื่อประวิงเวลา
(3) ขอข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากคู่กรณี พยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ
(4) ขอให้ผู้ครอบครองเอกสารส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง
(5) ออกไปตรวจสถานที่
ฯลฯ
มาตรา 30 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีเจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น
(1) เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
(2) เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป
(3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคำขอ คำให้การหรือคำแถลง
(4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้
(5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง
(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ
ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ในการออกคำสั่งที่ 128/2543 จำเลยที่ 1 ได้มาตรวจสภาพการจ้างของโจทก์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 โดยมาพบและสอบปากคำนายอาจินต์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโจทก์และพนักงานอื่น ๆ ของโจทก์ก่อนมีคำสั่งดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 27 และมาตรา 29 แล้ว อนึ่ง ถึงแม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้โจทก์มีโอกาสที่จะทราบข้อเท็จจริงรวมทั้งมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานในส่วนของโจทก์ตามมาตรา 30 วรรรคหนึ่ง แต่สำหรับกรณีที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ 128/2543 นี้ เป็นเรื่องให้โจทก์ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นเรื่องความสงบในทางอุตสาหกรรม หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปโดยการให้โจทก์ในฐานะนายจ้างมีโอกาสตามที่โจทก์อ้าง ย่อมเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ลูกจ้าง อีกทั้งกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) คำสั่งที่ 128/2543 ของจำเลยที่ 1 ชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2 ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปในข้อ 3 และข้อ 4 ว่า คำสั่งที่ 128/2543 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 34 และมาตรา 37 โดยข้อความของคำสั่งมีลักษณะคลุมเครือและมิได้มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดอย่างชัดแจ้ง และมิได้ประกอบด้วยข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิงข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ เห็นว่า ตามคำสั่งที่ 128/2543 เอกสารหมาย จ.25 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้ตรวจสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ณ สถานประกอบกิจการของโจทก์ โดยได้สอบถามข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างไม่ถูกต้องและตรงตามกำหนดและสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 มาตรา 9 และมาตรา 75 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 139 (3) สั่งให้โจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้ (1) ให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติให้ลูกจ้างที่สั่งพักงานและมิได้ทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ให้ถูกต้องครบถ้วนและตรงตามกำหนดพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (2) ให้จ่ายเงินแก่ลูกจ้างที่สั่งพักงานและทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ทั้งนี้ให้โจทก์ปฏิบัติตาม (1) และ (2) ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง ข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้รับคำสั่งย่อมทราบว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติอะไรอย่างไร จึงมีความหมายชัดเจนตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 34 แล้ว อนึ่ง แม้เหตุผลของคำสั่งของจำเลยที่ 1 จะมิได้มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิงและข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) แต่การออกคำสั่งที่ 128/2543 นี้ เป็นคำสั่งที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้าง จึงถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่บทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรา 37 ไม่ใช้บังคับดังที่บัญญัติไว้ในวรรคสามของมาตรานี้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 3 และข้อ 4 จึงฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปในข้อ 5 ว่า คำสั่งที่ 114/2544 และที่ 158/2544 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งหลังครบกำหนดเวลา 60 วัน โดยมิได้มีการขอขยาย เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 บัญญัติในวรรคหนึ่งว่า เมื่อมีการยื่นคำร้องตามมาตรา 123 ให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง และบัญญัติในวรรคสองอีกว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งภายในเวลาตามวรรคหนึ่งได้ ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล และอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดตามวรรคหนึ่ง ตามบัญญัติของมาตรา 124 ทั้งสองวรรคดังกล่าวเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงานไว้เป็นการเด็ดขาด เมื่อการพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นไปตามเงื่อนไข กล่าวคือ ในการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้มีคำสั่งภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คำสั่งที่ 114/2544 และที่ 158/2544 จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปในข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกพันตำรวจโทประสงค์ เป็นการไม่ชอบการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางโดยไม่ฟังคำเบิกความของพันตำรวจโทประสงค์จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่มิชอบไปด้วย เห็นว่า การวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในคดีนี้เป็นการวินิจฉัยว่า กรณีเพลิงไหม้โรงปั่นด้าย เอ 2 ของโจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2543 เป็นเหตุสุดวิสัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ โดยศาลแรงงานกลางพิจารณาหนังสือบันทึกข้อความของพันตำรวจเอกนริศว ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดงที่ สป 0420 (ส) 3760 ลงวันที่ 4 เมษายน 2544 เอกสารหมาย จ.21 ทั้งนี้เอกสารหมาย จ.21 สรุปจากการสอบปากคำและตรวจสถานที่เกิดเหตุว่าน่าเชื่อว่ากรณีเพลิงไหม้เกิดจากการขัดสีหรือเสียดสีกันของเศษฝ้ายกับผนังปล่องท่อ จึงเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การขัดสีหรือเสียดสีดังกล่าวนี้สามารถป้องกันได้โดยตรวจสอบหรือหาเครื่องมือป้องกันไฟฟ้าสถิตหรือป้องกันไม่ให้มีเศษฝ้ายหลุดเข้าไปในปล่องท่อเหล็กที่เกิดความร้อน แต่โจทก์ไม่ดำเนินการดังกล่าว กรณีจึงมิใช่เป็นเหตุสุดวิสัย โดยการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าว ศาลแรงงานกลางยังพิจารณาพยานหลักฐานอื่น ๆ ประกอบอีก คือ เอกสารเรื่องคำชี้แจงของโจทก์ฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 ที่รับว่าโจทก์ไม่ได้จัดทำแผนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรโจทก์แก้ปัญหาการใช้เครื่องจักรบางส่วนที่ดำเนินการผลิต โดยการถอดชิ้นส่วนจากเครื่องจักรเครื่องหนึ่งนำไปใช้ซ่อมบำรุงอีกเครื่องหนึ่งเนื่องจากไม่มีเงินในการจัดหาอะไหล่มาซ่อมบำรุง และบันทึกคำให้การของนายอาจินต์ ต่อนายนิกร นักวิชาการแรงงาน 6 ที่ยอมรับว่าโจทก์มิได้จัดทำแผนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวเห็นได้ว่า มิใช่เป็นการวินิจฉัยโดยปราศจากพยานหลักฐานที่เป็นสาระสำคัญในสำนวนสนับสนุน แม้ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกพยานบางปากมาเบิกความก็เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง หาใช่เป็นการกระทำที่เป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย หรือทำให้การวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใดไม่ อุทรธรณ์ของโจทก์ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปในข้อ 9 ว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างและเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยอ้างเหตุ 2 ประการ ประการแรกโจทก์อ้างว่า กรณีเกิดเพลิงไหม้โรงงานปั่นด้าย เอ 2 ของโจทก์เกิดจากเหตุสุดวิสัย เห็นว่า ในการอ้างเหตุดังกล่าว โจทก์อ้างรายงานผลการสอบสวนและการตรวจสถานที่เกิดเหตุของพันตำรวจเอกนริศวร์ เอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 โดยเอกสารดังกล่าวนี้ให้ความเห็นว่าเหตุเพลิงไหม้เป็นเหตุสุดวิสัยดังที่โจทก์อ้างจริงแต่เอกสารดังกล่าวนี้ศาลแรงงานกลางฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นแล้วและวินิจฉัยไปอีกหนทางหนึ่งต่างจากความเห็นของพันตำรวจเอกนริศวร์ อุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ อีกประการหนึ่ง โจทก์อ้างว่าการหยุดกิจการของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์มีความจำเป็นเนื่องจากสถานที่ตั้งของโจทก์ถูกประกาศให้เป็นสถานที่อันตรายและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่งให้โจทก์หยุดประกอบกิจการในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ที่สุด ส่วนโรงงานปั่นด้ายของโจทก์ที่เหลืออีก 2 แห่ง คือ โรงงานปั่นด้าย เอ 1 มีเครื่องจักรที่ล้าสมัย หากเปิดแล้วไม่คุ้มทุน และโรงงานปั่นด้าย เอ 3 ที่ปิดอยู่ หากเปิดก็จะรับพนักงานได้เพียง 400 คน นอกจากนั้นโจทก์ยังประสบปัญหาอื่น ๆ คือ ขาดเงินทุนหมุนเวียน โจทก์จึงจำเป็นต้องหยุดกิจการ เห็นว่าในปัญหาว่าการหยุดกิจการของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์มีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากลูกจ้างโจทก์ที่ถูกสั่งพักงานมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในอาคารอื่นที่มิใช่โรงงานปั่นด้าย เอ 2 และกลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่รอคำสั่งของโจทก์ให้เข้าปฏิบัติงาน สำหรับลูกจ้างกลุ่มที่ 1 ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่า การสั่งพักงานลูกจ้างดังกล่าวเป็นกรณีมีเหตุจำเป็น ไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัย กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะลูกจ้างกลุ่มที่ 2 และที่ 3 ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการสั่งพักงานลูกจ้างสองกลุ่มดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ใช้ลูกจ้างประมาณ 700 คน นอกจากโรงงานปั่นด้าย เอ 2 แล้ว โจทก์ยังมีโรงงานปั่นด้าย เอ 1 ซึ่งปิดอยู่ โดยโรงงานดังกล่าวเมื่อเปิดก็สามารถรองรับลูกค้าได้ประมาณ 400 คน และโจทก์ยังสามารถนำลูกจ้างที่เหลืออีก 300 คน ไปจัดสรรทำงานโดยการเกลี่ยไปทำงานที่อื่นได้แต่โจทก์ไม่ทำ นอกจากนั้นโจทก์ยังทยอยรับลูกจ้างใหม่ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวการสั่งพักงานลูกจ้างกลุ่มที่ 2 และที่ 3 ของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการสั่งพักงานในกรณีมีเหตุจำเป็นดังที่โจทก์อ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นแต่เพียงบางส่วน โดยข้อ 2 ที่อ้างว่าคำสั่งที่ 128/2543 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 30 ข้อ 3 และข้อ 4 ที่อ้างว่า คำสั่งที่ 128/2543 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 34 และมาตรา 37 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ที่อ้างว่าการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นการไม่ชอบ และข้อ 9 ที่อ้างว่าโจทก์มิต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างและเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นเฉพาะข้อที่ 5 ที่อ้างว่าคำสั่งที่ 114/2544 และที่ 158/2544 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งหลังครบกำหนด 60 วัน โดยมิได้มีการขอขยายระยะเวลา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 114/2544 และที่ 158/2544 ของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง