คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9014/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การเสียค่าขึ้นศาลจะต้องเสียในเวลาที่ยื่นฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบด้วย ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ต่อโจทก์และจำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไว้แล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ด้วยเช่นกัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ตามทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์มาฉบับเดียวกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคนคงต้องร่วมกันเสียค่าขึ้นศาลเพียงจำนวนเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ของแต่ละคนเป็นการไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 20,888,006.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 4 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระในต้นเงินจำนวน 17,824,530.84 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท วันที่ 13 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ขอขยาย โดยเสียค่าขึ้นศาลจำนวน 200,000 บาท และวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์จำนวน 300,595 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 แล้ว ในวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในระยะเวลาที่ขอขยายโดยเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท กับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำแถลงว่า จำเลยที่ 4 ชำระค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และวางเงินค่าธรรมเนียมแทนโจทก์เต็มจำนวนแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอถือเอาค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และค่าธรรมเนียมวางแทนโจทก์ของจำเลยที่ 4 เป็นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต แล้วมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวันเดียวกันคือวันที่ 8 มีนาคม 2543
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องอ้างว่า จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยและคำสั่งให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) และพิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 มีนาคม 2543 แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ของแต่ละคนภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องเสียค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า การเสียค่าขึ้นศาลจะต้องเสียในเวลาที่ยื่นฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ประกอบด้วยตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ต่อโจทก์และจำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไว้แล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ด้วยเช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคนไปนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ตามทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ และยื่นอุทธรณ์มาฉบับเดียวกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคนคงต้องร่วมกันเสียค่าขึ้นศาลเพียงจำนวนเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ของแต่ละคนเป็นการไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์

Share