แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามและแจ้งข้อหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ แต่ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งสิทธิให้จำเลยทั้งสามทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 ทวิ (เดิม) ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้จับมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิรวม 3 ประการ โดยเฉพาะประการที่ 1 คือพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง ทั้งตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมก็ไม่มีข้อความระบุว่ามีการแจ้งสิทธิดังกล่าวด้วย บันทึกการตรวจค้นจับกุมจึงมีน้ำหนักน้อย เจ้าพนักงานตำรวจเพียงแต่พบเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บริเวณหัวเตียงนอนและในห้องดังกล่าวซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อยู่ด้วยกัน โดยจำเลยที่ 3 เบิกความยอมรับว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เอง เมื่อมิได้ค้นพบเมทแอมเฟตามีนจากตัวจำเลยที่ 1 ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ โจทก์เพียงอ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ โจทก์เพียงอ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ต่อศาลเท่านั้น มิได้อ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ต่อศาลด้วย ทำให้เป็นพิรุธน่าสงสัยว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่าอย่างไร ได้ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยสมัครใจหรือไม่ ข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจโท พ. และดาบตำรวจ ว. ในชั้นศาลหรือไม่ทั้จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมาก่อน กรณีจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 92 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายและบวกโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและบวกโทษ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 504/2544 และคดีหมายเลขแดงที่ 4760/2544 ของศาลจังหวัดสมุทรสาครอีก 12 เดือน เข้ากับโทษในคดีนี้รวมจำคุก 7 ปี 18 เดือน ริบของกลาง ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี ส่วนโทษของจำเลยที่ 3 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 480 เม็ด น้ำหนักรวม 47.550 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 11.040 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทไพโรจน์และดาบตำรวจวิเชียรผู้จับกุมจำเลยทั้งสาม และร้อยตำรวจโทกษิดิศพนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยาน โดยพันตำรวจโทไพโรจน์เบิกความว่า ก่อนวันเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ พยานและดาบตำรวจวิเชียรได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่บ้านเลขที่ 86/1 ห้อง 1/12 ครั้นวันที่ 18 ธันวาคม 2544 จึงวางแผนล่อซื้อโดยให้สายลับไปติดต่อขอซื้อก่อน หากติดต่อได้จะนัดล่อซื้อและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนในวันรุ่งขึ้น แต่พยานกลับเบิกความใหม่ว่าในวันที่ 18 ธันวาคม 2544 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา พยานวางแผนให้สายลับไปล่อซื้อ จากนั้นพยานกับดาบตำรวจวิเชียรพร้อมด้วยสายลับเดินทางไปยังบ้านดังกล่าวโดยพยานกับดาบตำรวจวิเชียรไปซุ่มดูอยู่ที่ร้านอาหารครัวสมัยซึ่งอยู่ตรงกันข้าม สักครู่หนึ่งสายลับเดินออกจากห้องจำเลยที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์ไปที่สถานีบริการน้ำมันห่างออกไปประมาณ 100 เมตร เพื่อไปพบกับเจ้าพนักงานตำรวจอีกชุดหนึ่ง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจชุดดังกล่าวโทรศัพท์แจ้งให้พยานทราบว่าที่ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 มัด นั้นไม่มี มีแค่ 2 ถึง 3 ถุงเท่านั้น และหลังจากพยานกับดาบตำรวจวิเชียรได้รับแจ้งแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เดินออกมาจากห้องพักมีท่าทางพิรุธ พยานกับดาบตำรวจวิเชียรจึงขับรถยนต์ไปจอดที่หน้าห้องเพื่อเข้าตรวจค้น ส่วนดาบตำรวจวิเชียรกลับเบิกความว่า พันตำรวจโทไพโรจน์วางแผนให้สายลับทำการล่อซื้อในวันที่ 18 ธันวาคม 2544 นั้นเอง ครั้นเมื่อสายลับเข้าไปติดต่อในห้องจำเลยที่ 1 และออกเดินทางไปยังสถานีบริการน้ำมัน พยานได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจชุดที่อยู่ที่สถานีบริการน้ำมันว่า เมทแอมเฟตามีนมีเพียง 2 ถึง 3 ถุงเท่านั้น ต่อมาพยานไปที่ห้องของจำเลยที่ 1 เห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 เดินออกมาจากห้อง มีท่าทางตกใจและวิ่งเข้าไปในห้อง พยานจึงติดตามเข้าไป ขณะนั้นจำเลยที่ 1 อยู่ในห้องน้ำ พยานพร้อมเจ้าพนักงานตำรวจอื่นตรวจค้นในบริเวณห้อง พบเมทแอมเฟตามีน 3 ถุงอยู่บริเวณหัวเตียงนอน จึงจับกุมจำเลยทั้งสามและแจ้งข้อหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้แจ้งสิทธิให้จำเลยทั้งสามทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ทวิ ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้จับมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิรวม 3 ประการ โดยเฉพาะประการที่ 1 คือ พบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง ทั้งตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ก็ไม่มีข้อความระบุว่ามีการแจ้งสิทธิดังกล่าวด้วย ดังนั้น บันทึกการตรวจค้นจับกุมดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้พยานโจทก์ทั้งสองเพียงแต่พบเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บริเวณหัวเตียงนอนและในห้องดังกล่าวซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อยู่ด้วยกัน โดยจำเลยที่ 3 เบิกความยอมรับว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เอง เมื่อมิได้ค้นพบเมทแอมเฟตามีนจากตัวจำเลยที่ 1 และร้อยตำรวจโทษิดิศพนักงานสอบสวนก็เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ โดยโจทก์เพียงแต่อ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนเฉพาะของจำเลยที่ 3 ต่อศาลเท่านั้น มิได้อ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ต่อศาลด้วย ทำให้เป็นพิรุธน่าสงสัยว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่าอย่างไร ได้ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยสมัครใจหรือไม่ ข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจโทไพโรจน์และดาบตำรวจวิเชียรในชั้นศาลหรือไม่ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมาก่อน กรณีจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น