แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 119 บัญญัติว่า ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ดังนั้น ผู้ประกันซึ่งผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดวันนัดของศาล ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 2 เกี่ยวกับค่าปรับตามสัญญาประกันอีกไม่ได้ เพราะคดีถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากผู้ประกันทั้งสองทำสัญญาประกันจำเลยทั้งสองในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยทั้งสองตามกำหนดวันนัดของศาล ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองเต็มตามสัญญา คนละ 60,000 บาท และออกหมายจับจำเลยทั้งสอง เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลับหลังจำเลยทั้งสองแล้ว ผู้ประกันทั้งสองได้นำตัวจำเลยทั้งสองมาส่งศาล เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 ศาลชั้นต้นลดค่าปรับให้ผู้ประกันทั้งสองคงปรับผู้ประกันตัวจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 54,000 บาท และปรับผู้ประกันตัวจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 48,000 บาท
ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับผู้ประกันทั้งสองคนละ 30,000 บาท
ผู้ประกันทั้งสองฎีกาขอให้ลดค่าปรับหรือให้ผ่อนชำระค่าปรับได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 บัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ดังนั้น ผู้ประกันทั้งสองจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เกี่ยวกับค่าปรับตามสัญญาต่อมาอีกไม่ได้ เพราะคดีย่อมถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกามานั้น ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกันทั้งสอง