คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9530/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ แต่เอกสารดังกล่าวสูญหายไปจากสำนวนความ เป็นเหตุที่ทำให้ศาลชั้นต้นไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งสองขอตรวจสำนวนไม่พบคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 อยู่ในสำนวนความ จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ศาลชั้นต้นได้ทำการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่แล้ว ปรากฏว่าในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดถ่ายไว้ จึงมีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ที่เสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองด้วยเหตุว่า การไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเป็นเพียงพฤติการณ์พิเศษ ต้องยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนไว้จากผู้ใด และผู้เอาประกันภัยมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างไร อันจะทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด เท่ากับคำฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ผู้ตายมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 เป็นเงินเดือนละเท่าใด แม้โจทก์ที่ 1 ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินได้ของผู้ตาย ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสมควรได้ เมื่อพิจารณาถึงอายุของโจทก์ที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุ 53 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 57 ปี ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 875,343 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 819,035 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 517,535 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549) ต้องไม่เกิน 56,308 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 จำเลยทั้งสองขอคัดถ่ายเอกสาร ได้แก่ คำพิพากษาศาลชั้นต้น คำเบิกความพยานโจทก์และจำเลยทุกปากเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 แต่เจ้าหน้าที่ยังคัดถ่ายเอกสารไม่เสร็จ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ได้ประทับรับสำเนาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และสำเนาใบมอบฉันทะฉบับลงวันที่เดียวกัน พร้อมทั้งได้รับชำระค่าฤชาธรรมเนียมศาลแล้ว จำเลยทั้งสองติดตามคำสั่งศาล แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งคำร้อง ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2550 จำเลยทั้งสองขอตรวจสำนวนไม่พบคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 และใบมอบฉันทะในสำนวนความ จึงนำสำเนาคำร้องซึ่งมีอยู่ที่จำเลยทั้งสองให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูและตรวจในสารบบคอมพิวเตอร์ของศาลชั้นต้น พบว่ามีการบันทึกลงรับคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ต่อมาเจ้าหน้าที่แจ้งว่าผู้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เข้ามาใหม่ จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยทั้งสองขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว แต่เอกสารดังกล่าวได้สูญหายไปจากสำนวนความ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลังครบกำหนดระยะเวลาแล้ว จึงคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีสำเนาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 และสำเนาใบมอบฉันทะ ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 กับต้นฉบับใบรับเงินค่าธรรมเนียมศาล ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ตามเอกสารท้ายคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2552 เป็นพยานหลักฐานว่า จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นการขอขยายก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แล้ว สำเนาคำร้องและสำเนาใบมอบฉันทะมีตราประทับของศูนย์ปฏิบัติงานของศาลชั้นต้นประทับว่า ได้รับคำร้องเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 สอดคล้องกับต้นฉบับใบรับเงินค่าธรรมเนียมศาล ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ที่ระบุว่า ศาลชั้นต้นได้รับค่าคำร้องจากจำเลยทั้งสองในวันดังกล่าว โดยมีเจ้าพนักงานศาลลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงิน ตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสองไม่ได้โต้แย้งว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามสำเนาคำร้องฉบับดังกล่าว คงโต้แย้งแต่เพียงว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งคำร้องฉบับดังกล่าวเท่านั้นพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักรับฟังว่า จำเลยทั้งสองขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 เนื่องจากยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดถ่ายจากศาลชั้นต้น ถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษและจำเลยทั้งสองมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยทั้งสองขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ แต่เอกสารดังกล่าวสูญหายไปจากสำนวนความ เป็นเหตุที่ทำให้ศาลชั้นต้นไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งสองขอตรวจสำนวนไม่พบคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 อยู่ในสำนวนความ จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ศาลชั้นต้นได้ทำการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่แล้ว ปรากฏว่าในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดถ่ายไว้ จึงมีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ตามคำร้องที่เสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยนั้น เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลรถยนต์หมายเลขทะเบียน ลอ 429 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถคันดังกล่าวและรับประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ลอ 429 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนสุรนารายณ์ จากอำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ มุ่งหน้าไปทางอำเภอชัยบาดาลจังหวัดลพบุรี ด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่นายสุทิน ขับทำให้นายสุทินซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาของโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมาการเสียชีวิตของนายสุทินทำให้โจทก์ทั้งสองต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองคิดค่าเสียหายเป็นค่าขาดไร้อุปการะ ค่าใช้จ่ายในการปลงศพและค่าซ่อมรถจักรยานยนต์รวมเป็นเงิน 1,057,500 บาท จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว 200,000 บาท และโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นและค่าปลงศพเบื้องต้น ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซึ่งรับประกันภัยรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 38,465 บาท จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาด 819,035 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองโดยมิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนไว้จากผู้ใดและผู้เอาประกันภัยมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างไร อันจะทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด เท่ากับคำฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เพียงใด จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้ ส่วนนายสุทินมีรายได้จากการทำนา ทำไร่ รับจ้างทั่วไป มีรายได้ไม่แน่นอนและไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เกินความเป็นจริง จำเลยที่ 1 ควรรับผิดชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 100,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 มีใบสำคัญการสมรสเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงรับฟ้งว่า ผู้ตายมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องพิจารณาว่าในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 เป็นเงินเดือนละเท่าใด แม้โจทก์ที่ 1 ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินได้ของผู้ตาย ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสมควรได้ เมื่อพิจารณาถึงอายุของโจทก์ที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุ 53 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 57 ปี ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share