คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10985/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบสำคัญจ่ายเป็นของมูลนิธิ แต่อยู่ในความครอบครองดูแลของ ย. ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบัญชีของมูลนิธิ ย. ย่อมมีหน้าที่ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของนายจ้างตน เมื่อเห็นว่าผู้บริหารของมูลนิธิ ทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินของมูลนิธิ ก่อความเสียหายแก่มูลนิธิที่ตนทำงานอยู่ เมื่อตนพบเห็นย่อมแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ การที่ ย. นำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีแก่จำเลย ย.ย่อมไม่มีความผิดใด ๆ ในทางอาญา เพราะเป็นการมอบหลักฐานที่สำคัญในทางคดีให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย การที่จะให้เจ้าพนักงานเรียกเอกสารหลักฐานแห่งการกระทำความผิดตามปกตินั้น ย่อมยากที่จะได้รับความร่วมมือจากผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นผู้บริหารในหน่วยงานดังกล่าว เอกสารนั้นอาจถูกทำลายหรือสูญหายหรือหาไม่พบได้ จึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิด การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานสำคัญของคดี จึงเป็นการได้มาโดยชอบ ไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตา 226/1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 265, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42, 69 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 42 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 42 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก 6 เดือน และปรับ 8,000 บาท เมื่อรวมกับโทษอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 28,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ว่า มูลนิธิฟื้นฟูมรดกอิสลาม ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) เป็นนิติบุคคลประเภทมูลนิธิ โดยจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 19/2 หมู่ที่ 4 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส มีนายอนันต์ เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน จำเลยกับพวกเป็นผู้เริ่มก่อการ ในการจดทะเบียนดังกล่าว จำเลยให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงินสด 500,000 บาท และที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2947 ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ราคาประมาณ 105,300 บาท ให้เป็นทุนดำเนินการของมูลนิธิ ตามคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิและหนังสือคำมั่นสัญญา ซึ่งที่ดินดังกล่าวจำเลยซื้อมาจากนางหนวก ต่อมามีการจดทะเบียนแก้ไขสำนักงานใหญ่เป็นเลขที่ 104/2 หมู่ที่ 7 ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส มีจำเลยเป็นประธานมูลนิธิและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินกิจการของมูลนิธิตลอดมา นายยูนุส เป็นหัวหน้าฝ่ายบัญชี นายลุกมาน เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน และนายคอลิด เป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของมูลนิธิ นายยูนุสกล่าวหาจำเลยต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมว่า จำเลยร่ำรวยผิดปกติ โดยยักยอกทรัพย์สินของมูลนิธิไปเป็นของตนหลายกรณี ปฏิบัติหน้าที่โดยผิดระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ ทำให้เกิดความเสียหายแก่มูลนิธิ กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ มีพันตำรวจตรีสุริยา เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ตามประกาศและคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายยูนุสส่งมอบหลักฐานเป็นเอกสารของมูลนิธิหลายรายการ รวมทั้งใบสำคัญจ่าย ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการปลอมใบสำคัญจ่ายและใบอนุญาตจ่ายเงินซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2947 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของมูลนิธิ และได้ใช้เอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวเป็นหลักฐานในการเบิกเงิน 400,000 บาท จากมูลนิธิ ซึ่งเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของมูลนิธิ กระทำหรือยอมให้กระทำอันทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสารหรือหลักประกันของมูลนิธิ เพื่อลวงให้มูลนิธิขาดประโยชน์อันควรได้ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยแล้ว ในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธินั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ใบสำคัญจ่ายเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกิดขึ้นและได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 หรือไม่ เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นของมูลนิธิ แต่อยู่ในความครอบครองดูแลของนายยูนุส ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบัญชีของมูลนิธิ นายยูนุสย่อมมีหน้าที่ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของนายจ้างตน เมื่อเห็นว่าผู้บริหารของมูลนิธิทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินของมูลนิธิ ก่อความเสียหายแก่มูลนิธิที่ตนทำงานอยู่ เมื่อตนพบเห็นย่อมแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ การที่นายยูนุสนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีแก่จำเลย นายยูนุสย่อมไม่มีความผิดใด ๆ ในทางอาญา เพราะเป็นการมอบหลักฐานที่สำคัญในทางคดีให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย การที่จะให้เจ้าพนักงานเรียกเอกสารหลักฐานแห่งการกระทำความผิดตามปกตินั้น ย่อมยากที่จะได้รับความร่วมมือจากผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นผู้บริหารในหน่วยงาน เอกสารนั้นอาจถูกทำลายหรือสูญหายหรือหาไม่พบได้ จึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิด การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานสำคัญของคดี จึงเป็นการได้มาโดยชอบ ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตา 226/1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share