แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่เคยประสบภาวะขาดทุนและไม่ปรากฏว่าแนวโน้มในการประกอบกิจการของจำเลยในปีต่อๆไป จะประสบภาวะวิกฤติจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์เพื่อให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต มิใช่ให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงอื่นนอกจากที่รับฟังไว้แล้ว จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกครบถ้วนแล้ว เมื่อคำนึงถึงอายุงานที่โจทก์ทั้งหกทำงานกับจำเลยมาคนละหลายปี แต่โจทก์ทั้งหกก็มีอายุไม่มากนักยังสามารถหางานทำใหม่ได้ และมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างมิได้เกิดจากการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้ว มิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายตามจำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งหกบรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างจึงมิใช่ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 แต่เป็นกรณีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งหกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งหกเข้าทำงานเป็นลูกจ้างรายเดือน รับค่าจ้างทุกวันที่ 1 ของเดือน ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยที่โจทก์ทั้งหกมิได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ทั้งหกกลายเป็นคนตกงาน ขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพ ขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 8,564,218.93 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,021,213.29 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 4,933,026 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 4,620,930.65 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 5,171,349 บาท แก่โจทก์ที่ 5 และจำนวน 4,868,699.80 บาท แก่โจทก์ที่ 6
จำเลยให้การว่า ในช่วงปี 2544 ถึงปี 2545 การผลิตคอมพิวเตอร์หรือกิจการเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ประสบวิกฤติทางด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อพยุงฐานะกิจการของจำเลยให้อยู่ได้ จำเลยจึงจำต้องยุบหน่วยงานและอัตราพนักงานลงบางส่วน โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อยู่ในหน่วยงานฝึกอบรมที่จำเลยต้องยกเลิกไปเนื่องจากจำเลยไม่มีการรับพนักงานเพื่อเข้ามาอบรมแต่อย่างใด การเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกดำเนินการอย่างเป็นระบบมีเหตุผลและเป็นธรรมโดยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก การเลิกจ้างดังกล่าวเพื่อลดค่าใช้จ่ายเป็นการพยุงฐานะทางการเงินของบริษัทจำเลยให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและโจทก์ทั้งหกได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไปครบถ้วนแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2545 โจทก์ทั้งหกชอบที่จะฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันเลิกจ้าง ฟ้องโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 146,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 77,040 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 96,910 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 154,990 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 93,500 บาท แก่โจทก์ที่ 5 และจำนวน 91,300 บาท แก่โจทก์ที่ 6 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกพร้อมพนักงานคนอื่นรวมทั้งหมด 60 คน โดยโจทก์ทั้งหกได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยไปครบถ้วนแล้ว เหตุที่เลิกจ้างเนื่องจากยอดการสั่งซื้อสินค้าน้อยลง จึงต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดจำนวนพนักงานลง โดยจะลดพนักงานรายเดือนที่มีเงินเดือนสูงแต่มีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำกว่าพนักงานอื่น เมื่อกิจการของจำเลยมีกำไรมาตลอด ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าแนวโน้มในการประกอบกิจการของจำเลยในปีต่อๆ ไป จะประสบภาวะวิกฤติจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินการต่อไป เพียงแต่ยอดขายลดลงเท่านั้น โจทก์ทั้งหกมิได้มีหน้าที่ในการผลิตโดยตรง การเลิกจ้างเป็นการเลือกเลิกจ้างพนักงานที่มีอายุงานมากและมีเงินเดือนสูง จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างพนักงานที่มีความจำเป็นต่อการผลิต การเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ผลการดำเนินกิจการของจำเลยมีกำไรมาโดยตลอด ยังไม่เคยประสบการขาดทุนถึงขนาดจะประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ ในปีต่อไปก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าจะประสบวิกฤติถึงขนาดประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ถ้าไม่เลิกจ้างโจทก์ทั้งหกก็ดีหรือจำเลยเลิกจ้างเฉพาะพนักงานที่มีอายุงานมากเงินเดือนสูงและไม่เกี่ยวกับการผลิตก็ดี หรือโจทก์ที่ 2 อยู่ในหน่วยงานฝึกอบรมซึ่งมีพนักงานจำนวนไม่มากก็ดี เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงผิดจากที่จำเลยนำสืบ เพราะจำเลยไม่ถือเรื่องกำไรขาดทุนเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ทั้งหก เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเพราะจำเลยคาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าว่าอาจเกิดวิกฤติทำให้บริษัทจำเลยต้องรับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากมีการสั่งซื้อสินค้าลดลงและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราผันผวน การเลิกจ้างพนักงานจำเลยไม่ได้เลือกปฏิบัติการที่จะฟังว่าไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าจะเกิดวิกฤติจนจำเลยดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้นั้น เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ผิดจากความจริง เพราะความเป็นจริงอาจจะเกิดวิกฤติรุนแรงดังที่จำเลยคาดหมายก็ได้นั้นก็ดีและที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงบางข้อโดยหยิบยกเฉพาะที่เป็นผลร้ายแก่จำเลย แต่ไม่หยิบยกข้อเท็จจริงทั้งหมดที่จำเลยสืบไว้มารับฟังก็ดี เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์ทั้งหกและจำเลย แล้ววินิจฉัยจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฏขณะเลิกจ้างว่า จำเลยไม่เคยประสบภาวะขาดทุน และไม่ปรากฏว่าแนวโน้มในการประกอบกิจการของจำเลยในปีต่อๆ ไปจะประสบภาวะวิกฤติจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์เพื่อให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต มิใช่ให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงอื่นนอกจากที่รับฟังไว้แล้ว จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อุทธรณ์ของจำเลยข้อที่ว่า ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายในอัตราเงินเดือนครั้งสุดท้าย 1 เดือน ต่อระยะเวลาการทำงาน 1 ปี เป็นการวินิจฉัยว่าถ้าโจทก์แต่ละคนไม่ถูกเลิกจ้างจะทำงานอยู่กับจำเลยอีกตามจำนวนเวลาที่เคยทำงานให้จำเลยมาแล้ว เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าที่ไม่แน่นอนและไม่มีหลักเกณฑ์ชัดแจ้ง อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การกำหนดค่าเสียหายในอัตราดังกล่าว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกครบถ้วนแล้ว เมื่อคำนึงถึงอายุงานที่โจทก์ทั้งหกทำงานกับจำเลยมาคนละหลายปี แต่โจทก์ทั้งหกก็มีอายุไม่มากนักยังสามารถหางานทำใหม่ได้ และมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างมิได้เกิดจากการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้ว มิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายตามจำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายของโจทก์ทั้งหกเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงาน จึงมีอายุความ 2 ปี ไม่ใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งหกบรรยายฟ้องอย่างชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างแต่อย่างใด จึงมิใช่ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 แต่เป็นกรณีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกวันที่ 12 มกราคม 2545 โจทก์ทั้งหกอาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้นับแต่นั้น อายุความจึงเริ่มนับแต่วันเลิกจ้าง เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 26 มีนาคม 2547 ยังอยู่ในกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความฟ้องคดี ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า คดีของโจทก์ทั้งหกไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน