คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437
ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้
ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นมารดาจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2545 จำเลยทั้งสองร่วมกันขอหมั้นโจทก์ที่ 2 จากโจทก์ที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และมีการหมั้นระหว่างทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 โดยจำเลยทั้งสองนำเงินสดจำนวน 1,444,000 บาท ทองคำหนัก 40 บาท เป็นเงิน 280,000 บาท ตุ้มหูเพชร 1 คู่ ราคาประมาณ 10,000 บาท แหวนเพชร 1 วง ราคาประมาณ 80,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นของหมั้น และได้นัดหมายแต่งงานพร้อมจดทะเบียนสมรสในวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดงานหมั้นเป็นเงินประมาณ 150,000 บาท ต่อมาในระหว่างพิธีแต่งงาน โจทก์ที่ 2 ได้ฝากเงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำหนัก 40 บาท ของหมั้นไว้ในตู้นิรภัยของจำเลยที่ 1 และทำพิธีแต่งงานตามประเพณีต่อไปจนเสร็จสิ้น โดยในวันแต่งงานไม่มีการจดทะเบียนสมรสเนื่องจากจำเลยที่ 2 อ้างว่าต้องต้อนรับแขกที่มางาน เมื่อทำพิธีแต่งงานแล้วโจทก์ที่ 2 ย้ายเข้าพักอาศัยกับจำเลยที่ 2 และเคยชักชวนจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 2 บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2546 จำเลยทั้งสองร่วมกันขับไล่โจทก์ที่ 2 ออกจากบ้าน โดยกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 มีชู้ ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยไม่ยอมคืนเงินสด จำนวน 1,444,000 บาท และทองคำหนัก 40 บาท แก่โจทก์ที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการผิดสัญญาหมั้นโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายจากการจัดงานหมั้นเป็นเงิน 150,000 บาท และต้องอับอายที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงและกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 มีชู้ ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 350,000 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายเนื่องจากหลงเชื่อว่าจะมีการสมรสจริงจึงพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยอมร่วมประเวณีด้วยมาตลอด โจทก์ที่ 2 ขอคิดค่าเสียหายแก่กายและชื่อเสียงเป็นเงิน 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินสด จำนวน 1,444,000 บาท พร้อมทองรูปพรรณหนัก 40 บาท หากคืนทองคำไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 280,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 สู่ขอโจทก์ที่ 2 จากโจทก์ที่ 1 เพื่อให้เป็นภริยาจำเลยที่ 2 โดยมีการทำพิธีสมรสกันเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 จริง แต่เป็นการสู่ขอและสมรสตามประเพณีเพื่อให้โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ได้อยู่กินฉันสามีภริยาโดยเปิดเผยเท่านั้น ไม่ได้มุ่งประสงค์จะให้มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายต้องถูกติฉินนินทาและอับอายเนื่องจากโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ลักลอบได้เสียกันมาก่อน ในการจัดการทำพิธีสู่ขอตกลงกันว่าไม่มีค่าสินสอด โดยโจทก์จะคืนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 นำมาประกอบพิธีภายหลังแต่งงานแล้ว เพื่อให้สมกับฐานะความมีหน้าตาของทั้งสองฝ่าย ก่อนวันสู่ขอจำเลยที่ 1 จึงกู้เงินจากธนาคาร จำนวน 1,500,000 บาท แล้วนำเงินจำนวน 1,444,000 บาท และสร้อยคอทองคำน้ำหนัก 5 บาท จำนวน 4 เส้น รวมหนัก 20 บาท จากร้านของจำเลยที่ 1 ไปประกอบพิธีซึ่งภายหลังแต่งงานโจทก์ที่ 2 คืนให้จำเลยที่ 1 แล้ว นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังนำชุดเครื่องเพชรประกอบด้วยแหวนเพชร น้ำหนัก 1.07 กะรัต ราคา 176,500 บาท สร้อยสังวาลเพชรราคา 25,000 บาท และตุ้มหูเพชรราคา 23,000 บาท รวมราคา 224,500 บาท ไปประกอบพิธีด้วย โดยจำเลยที่ 1 ตกลงยกให้โจทก์ที่ 2 เพื่อเป็นการตอบแทนที่มาอยู่กินกับจำเลยที่ 2 ภายหลังแต่งงานโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสและทะเลาะวิวาทกันอยู่เนืองๆ ด้วยสาเหตุที่โจทก์ที่ 2 แอบคบหากับชายคนรักเก่า และโจทก์ที่ 2 ได้ขนย้ายทรัพย์สินส่วนตัวออกจากบ้านไป ฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลยไม่มีสัญญาหมั้นต่อกัน จำเลยทั้งสองไม่ได้ใส่ความกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 มีชู้โดยมุ่งหมายจะให้โจทก์ที่ 1 เสียหายแก่ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลแต่เพื่อประสงค์อบรมตักเตือนและห้ามปรามในฐานะมารดาของสามี จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาหมั้น โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายแก่กายและชื่อเสียงได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2545 จำเลยที่ 1 ได้สู่ขอโจทก์ที่ 2 จากโจทก์ที่ 1 เพื่อให้สมรสกับจำเลยที่ 2 มีการประกอบพิธีหมั้นและพิธีสมรสตามประเพณีจีน จำเลยทั้งสองนำเครื่องเพชร 1 ชุด เป็นแหวนเพชร 1 วง สร้อยสังวาล 1 เส้น และตุ้มหูอีก 1 คู่ เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณมอบให้โจทก์ทั้งสองในวันประกอบพิธีหมั้น และมีการประกอบพิธีสมรสในวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 ในวันสมรสดังกล่าวโจทก์ที่ 2 นำเงินสดจำนวน 1,444,000 บาท พร้อมทองคำรูปพรรณทั้งหมดที่รับมอบจากจำเลยทั้งสองในวันหมั้นติดตัวไปด้วย และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 2 มอบเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 อยู่กินกับจำเลยที่ 2 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโรงกลึงเป็นเวลาประมาณ 8 เดือน โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ทะเลาะกันเนื่องจากจำเลยที่ 2 หาว่าโจทก์ที่ 2 มีชู้ โจทก์ที่ 2 จึงออกจากบ้านของจำเลยที่ 2 กลับไปอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 1 ต่อมาประมาณ 1 เดือน โจทก์ที่ 1 และญาติผู้ใหญ่ของโจทก์ที่ 2 หลายคนพาโจทก์ที่ 2 กลับไปที่บ้านของจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าบ้าน จำเลยที่ 1 ไม่ยอมโดยอ้างว่าโจทก์ที่ 2 มีชู้ก่อนที่จะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 นั้นยังคลาดเคลื่อนต่อบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในปัญหาว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ทั้งสองเป็นพยานโดยโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เมื่อทำพิธีหมั้นแล้วมีการนัดหมายทำการแต่งงานกันในวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 และตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าในวันที่ฝ่ายจำเลยมาสู่ขอโจทก์ที่ 2 ไม่มีการพูดเรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ในวันทำพิธีหมั้น ไม่มีการพูดถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ที่ 2 ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าก่อนจัดงานแต่งงานทางผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรส แล้วเมื่อถึงวันแต่งงานโจทก์ที่ 1 ได้ถามโจทก์ที่ 2 ว่า ทำไมฝ่ายจำเลยถึงไม่จดทะเบียนสมรสภายในวันแต่งงานเสียเลย โจทก์ที่ 2 จึงไปถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสเพราะคนเรารักกัน ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสก็ได้ แสดงว่าทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยไม่ได้มีการพูดกันเรื่องการจดทะเบียนสมรส และฝ่ายจำเลยได้แจ้งให้ฝ่ายโจทก์ทราบว่า ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรส โจทก์ที่ 2 ยังตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่าโจทก์ที่ 2 ไม่เคยตั้งเงื่อนไขกับจำเลยที่ 2 ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมจดทะเบียนสมรส โจทก์ที่ 2 จะไม่ยอมแต่งงานกับจำเลยที่ 2 และเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ทะเลาะกับจำเลยที่ 2 จนออกจากบ้านไม่ได้พูดเรื่องจดทะเบียนสมรส เมื่อโจทก์ที่ 1 พาโจทก์ที่ 2 ไปหาจำเลยที่ 1 เพื่อให้รับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าบ้านก็ไม่ได้มีการพูดถึงการจดทะเบียนสมรส ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ฉะนั้นทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้ แต่การที่ฝ่ายจำเลยมอบเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์เป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 มาอยู่กินเป็นภริยากับจำเลยที่ 2 หากฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยมีเจตนายกให้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 ฝากไว้ที่จำเลยที่ 1 จริง โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะเรียกร้องคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมาว่า เงินสดและทองรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้โจทก์ทั้งสองในวันหมั้นนั้น จำเลยที่ 1 มีเจตนายกให้โจทก์ที่ 2 หรือเพียงแต่นำมาจัดแสดงในพิธีหมั้นแล้วฝ่ายโจทก์ต้องคืนให้จำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 1 นายปวิช สายวิวัฒน์ น้องชายจำเลยที่ 2 และนายโฮ่ เลย์ลอย บิดาจำเลยที่ 2 เบิกความทำนองเดียวกันว่า วันที่ไปทาบทามสู่ขอโจทก์ที่ 2 นั้น พยานทั้งสามไปด้วยกัน ฝ่ายโจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ที่ 1 ป้าของโจทก์ที่ 2 พี่สาวของโจทก์ที่ 2 และบุคคลอื่นรวมประมาณ 6 ถึง 8 คน ทางฝ่ายโจทก์พูดว่า ไม่เอาอะไรทั้งนั้น แต่ขอให้จัดมาให้ดูดีหน่อยเอามาเท่าใดก็จะคืนให้ จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากธนาคาร 1,500,000 บาท เพื่อนำเงินสดจำนวน 1,444,000 บาท ไปใช้ในพิธีหมั้น และนำทองคำรูปพรรณ 4 เส้น หนัก 20 บาท ในร้านขายทองของจำเลยที่ 1 ไปใช้ในพิธีหมั้น และจำเลยที่ 1 ยังเบิกความอีกว่า จำเลยที่ 1 พาโจทก์ที่ 2 ไปสั่งทำเครื่องเพชร 1 ชุด โดยบอกโจทก์ที่ 2 ว่า เครื่องเพชรยกให้โจทก์ที่ 2 ส่วนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นพยานขอคืนเพราะเป็นเงินที่กู้ยืมจากธนาคาร เงินสดและทองคำทั้งหมดฝ่ายจำเลยนำไปแสดงในพิธีหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะและเพื่อความมีหน้ามีตาของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น เห็นว่า หากฝ่ายจำเลยได้มอบเงินสดและทองรูปพรรณให้แก่ฝ่ายโจทก์ในวันทำพิธีหมั้นโดยมีเจตนายกให้แก่ฝ่ายโจทก์แล้วและโจทก์ที่ 2 ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าฝากธนาคาร ซึ่งโจทก์ที่ 2 สามารถเบิกถอนมาใช้ได้สะดวกกว่าที่จะนำไปฝากกับจำเลยที่ 1 ก่อนถึงวันแต่งงานโจทก์ที่ 2 ได้เบิกเงินดังกล่าวไปใช้บางส่วน ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่โจทก์ที่ 2 จะต้องนำเงินไปฝากไว้ที่จำเลยที่ 1 แต่อย่างไร เมื่อเงินดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะใช้เงินตามความพอใจของโจทก์ที่ 2 หรือหากเหลือเงินเพียงใด ก็ฝากไว้ที่จำเลยที่ 2 เพียงเท่านั้น แต่กลับเป็นว่าในวันแต่งงานโจทก์ทั้งสองต้องขวนขวายถอนเงินจากบัญชีอื่นของโจทก์ที่ 2 และนำเงินสดจากพี่สาวของโจทก์ที่ 2 มารวมให้ครบจำนวน 1,444,000 บาท นำติดตัวไปในวันแต่งงาน เพื่อนำไปฝากไว้ที่จำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องผิดปกติ ทั้งเมื่อโจทก์ที่ 2 ไปอยู่กินกับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ได้ทวงเงินและทองรูปพรรณจากจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 2 ออกจากบ้านจำเลยทั้งสองก็ไม่นำพาที่จะขอเงินและทองรูปพรรณคืนเมื่อโจทก์ที่ 1 พาโจทก์ที่ 2 มาส่งเพื่อให้อยู่กินกับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับนางสุภาพร บุญพยัคฆ์ พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งไปที่บ้านจำเลยทั้งสองก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าหลังจากโจทก์ที่ 2 ออกจากบ้านจำเลยทั้งสองได้ประมาณ 1 เดือนโจทก์ที่ 1 ถึงพาโจทก์ที่ 2 กลับไปบ้านจำเลยทั้งสอง เมื่อไปถึงบ้านจำเลยทั้งสองมีการทะเลาะกัน โจทก์ที่ 1 พูดกับจำเลยที่ 1 ว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับโจทก์ที่ 2 เข้าบ้าน ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเป็นค่าเสียหายแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่เคยพูดทวงเงินและทองรูปพรรณจากจำเลยที่ 2 จึงเป็นการผิดปกติวิสัยที่โจทก์ทั้งสองไม่ทวงเงินและทองรูปพรรณ ซึ่งรวมแล้วมูลค่าเป็นล้าน แต่กลับขอค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ที่ 1 เพียงปากเดียวเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้เอาไปพูดให้ชาวจังหวัดศรีสะเกษและชาวอำเภออุทุมพิสัยทราบว่า โจทก์ที่ 2 มีชู้ทำให้โจทก์ได้รับความอับอาย โดยโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานอื่นที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 นำเรื่องของโจทก์ที่ 2 ไปพูดให้ฟัง แม้แต่นางสุภาพร พยานโจทก์ทั้งสองยังตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าโจทก์ที่ 1 ไม่เคยเล่าให้พยานฟังว่า เหตุทะเลาะวิวาทระหว่างโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นเพราะบุคคลที่ 3 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 นำเรื่องโจทก์ที่ 2 ไปพูดให้โจทก์ทั้งสองได้รับความอับอายเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share