คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หักลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญา มิใช่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เช่นกัน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนธันวาคม 2539 ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องมือไฟฟ้าไปจากโจทก์หลายครั้ง จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าให้โจทก์เพียงบางส่วน โดยยังคงค้างชำระค่าสินค้าที่สั่งซื้อในเดือนธันวาคม 2539 และเดือนกุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 1,000,000 และคงค้างชำระค่าสินค้าในเดือนมีนาคม 2540 ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 จำนวน 5,031,839.01 บาท ต่อมาเมื่อประมาณปลายปี 2541 จำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 5 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระสำหรับสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อในเดือนมีนาคม 2539 และเดือนกุมภาพันธ์ 2540 เมื่อเช็คทั้งห้าฉบับถึงกำหนดชำระเงินโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 6,515,212.41 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 6,031,839.01 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปกับให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 1,057,328 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2542 หลังจากมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้ว จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องชำระหนี้ให้โจทก์เป็นการส่วนตัว แต่เป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 หนี้ตามเช็คเป็นหนี้ตามวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2542 และในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้คิดดอกเบี้ยในต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2542 ต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2542 ต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2542 และต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 มีนาคม 2543) รวมแล้วต้องไม่เกิน 57,328 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2540 ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องมือไฟฟ้าไปจากโจทก์หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 6,054,264.80 บาท โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้คือวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 วันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2541 โจทก์หักลดหนี้ค่าสินค้าให้จำเลยที่ 1 จำนวน 800,320.54 บาท ตามใบลดหนี้เอกสารหมาย จ.34 ในเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนคิดเป็นเงิน 222,105.25 บาท ตามใบรับสินค้าเอกสารหมาย จ.35 และ จ.36 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่โจทก์หักลดหนี้ค่าสินค้าให้จำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนเป็นการรับสภาพหนี้หรือไม่ เห็นว่า การรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ แต่กรณีตามฎีกาของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ซึ่งคือโจทก์กระทำต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนก็เป็นเรื่องของการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญา หาใช่เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนตามที่โจทก์เรียกร้อง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การรับสภาพหนี้ จึงไม่เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่หนี้แต่ละรายการถึงกำหนดชำระคดีโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share