คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8992/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 ครบถ้วนแล้วโดยพิจารณาจากเอกสาร ซึ่งมีรอยแก้ไขจนไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ และไม่พิจารณาว่าลายมือลูกจ้างในเอกสารดังกล่าวมีการลงลายมือชื่อไว้ตั้งแต่เมื่อใดและลงลายมือชื่อรับเงินประเภทใดเอกสารดังกล่าวมีพิรุธหลายประการ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี และที่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าอุทธรณ์ว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลาร่วม 30 ปี ไม่เคยผิดนัดจ่ายค่าจ้าง มีการจ่ายเงินโบนัสทุกปีและปรับค่าจ้างประจำปีสม่ำเสมอมาโดยตลอด การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าจำเลยประกอบกิจการขาดทุน การเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดีล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยกับสหภาพแรงงาน ซ. ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่จากเดิมที่เคยจ่ายค่าครองชีพรวมกับค่าจ้างมาเป็นแยกค่าครองชีพออกจากค่าจ้าง แต่หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วจำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างรายวันและรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบห้ามีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ ย่อมถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ดังนั้น ในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย นายจ้างจะต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมค่าจ้างทุกประเภท รวมทั้งค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงาน ซ. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยมีเงื่อนไขมิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโฆฆะ
โจทก์ที่ 10 ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าส่วนที่ขาดเป็นเงิน 69 บาท แต่ตามเอกสารในสำนวนปรากฏว่าโจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้เช่นเดียวกับโจทก์อื่น ๆ คนละ 350 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมจึงให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 350 บาท ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
จำเลยจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้า แต่จำเลยจ่ายไม่ครบถ้วนจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบเป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะและมิใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าสิบห้าจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าสิบห้าทวงถามเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

ย่อยาว

รายชื่อโจทก์ปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
คดีทั้งห้าสิบห้าสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 55 เรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งห้าสิบห้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าสิบห้าเป็นลูกจ้างจำเลยโดยมีระยะเวลาการทำงาน อัตราค่าจ้างและกำหนดจ่ายค่าจ้างตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้า แต่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่นำค่าครองชีพซึ่งจำเลยจ่ายเป็นประจำและแน่นอนทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานมาเป็นฐานคำนวณด้วยและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 25 และที่ 36 ไม่ครบจนถึงเวลาเลิกสัญญา นอกจากนี้จำเลยได้นำเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมบางส่วนมาต่อเข้ากัน ทำให้พนักงานที่คุมเครื่องจักรอยู่เดิมต้องลดจำนวนลงโดยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีใหม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติแต่จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง และตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยทำกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์ จำกัด มีข้อกำหนดไม่ให้นำค่าครองชีพดังกล่าวไปคิดคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าทดแทนค่าชดเชย เงินบำเหน็จ เงินโบนัสประจำปี และเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จำเลยจึงไม่ต้องนำค่าครองชีพมารวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทุกคนครบถ้วนแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเนื่องจากจำเลยประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันหลายปี จำเลยมิได้ปรับปรุงหน่วยงานและขบวนการผลิตด้วยการนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาใช้จนเป็นเหตุต้องลดลูกจ้างตามฟ้องเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์ทั้งห้าสิบห้าไม่ได้ทวงถามให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายก่อน การเรียกดอกเบี้ยจึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งห้าสิบห้ามีวันเข้าทำงาน วันเลิกจ้าง อัตราค่าจ้างสุดท้าย และค่าครองชีพปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.58 จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.1 และ จ.ล.2 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าและจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าตามเอกสารหมาย จ.ล.3 ถึง จ.ล.57 และ จ.ล.59 และหากค่าครองชีพที่พิพาทเป็นค่าจ้างจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าตามเอกสารหมาย จ.ล.58
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยจ่ายค่าครองชีพรวมกับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง แต่เมื่อมีการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำลูกจ้างจำเลยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างตามประกาศ จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์จึงทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่โดยแยกค่าครองชีพออกจากค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 เป็นต้นมา ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.1 ล.38 จ.ล.1 และ จ.ล.2 ข้อ 2 มีข้อตกลงว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างโดยมีหลักเกณฑ์ไม่นำเงินดังกล่าวรวมเข้าในค่าจ้างมูลฐาน และไม่นำไปคิดคำนวณค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุด ค่าทดแทน ค่าชดเชย เงินบำเหน็จ เงินโบนัสประจำปี และเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน ก่อนเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างทุกคนเป็นประจำในอัตราเดือนละ 700 บาท ไม่ว่าจะหยุดงานหรือไม่ก็ตาม แล้ววินิจฉัยว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ประสงค์จะจ่ายค่าครองชีพเพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้างแต่จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือลูกจ้าง ค่าครองชีพจึงมิใช่ค่าจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเนื่องจากต้องลดพนักงานลงตามความเหมาะสมเพื่อประคองให้รอดพ้นจากภาวะล้มละลายอันเป็นเหตุให้ต้องเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดเพราะเหตุประกอบกิจการขาดทุน มิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มพิเศษแก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้า จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 11 ที่ 12 ขาดอยู่ 13 วัน และจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 25 ขาดอยู่ 2 วัน จึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 11 โจทก์ที่ 12 และโจทก์ที่ 25 จำนวน 4,455.97 บาท 6,744.40 บาท และ 419 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งห้าสิบห้าและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 ครบถ้วนแล้วโดยพิจารณาจากเอกสารหมาย ล.39 ซึ่งมีรอยแก้ไขจนไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ และไม่พิจารณาว่าลายมือลูกจ้างในเอกสารดังกล่าวมีการลงลายมือชื่อไว้ตั้งแต่เมื่อใดและลงลายมือชื่อรับเงินประเภทใด เอกสารดังกล่าวมีพิรุธหลายประการคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี และที่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าอุทธรณ์ว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลาร่วม 30 ปี ไม่เคยผิดนัดจ่ายค่าจ้าง มีการจ่ายเงินโบนัสทุกปีและปรับค่าจ้างประจำปีสม่ำเสมอมาโดยตลอด การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าจำเลยประกอบกิจการขาดทุน การเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี ล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าสิบห้าว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่จากเดิมที่เคยจ่ายค่าครองชีพรวมกับค่าจ้างมาเป็นแยกจ่ายค่าครองชีพออกจากค่าจ้างก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าหลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วจำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างรายวันและรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบห้ามีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่เช่นนี้ กรณีย่อมถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง เมื่อค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด เป็นต้น ดังนั้น ในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย นายจ้างจะต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมค่าจ้างทุกประเภท รวมทั้งค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.1 และ จ.ล.2 โดยมีเงื่อนไขมิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพิ่มเติมแก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าตามเอกสารหมาย จ.ล.58 สำหรับกรณีของโจทก์ที่ 10 นั้นแม้โจทก์ที่ 10 ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าส่วนที่ขาดเป็นเงิน 69 บาท แต่ตามเอกสารหมาย จ.ล.58 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้เช่นเดียวกับโจทก์อื่นๆ คนละ 350 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมจึงให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 350 บาท ด้วย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 และเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้า แต่จำเลยจ่ายไม่ครบถ้วนจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะและมิใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าสิบห้าจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าสิบห้าทวงถามเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าสิบห้าข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 11 ที่ 12 และที่ 25 ไม่ครบถ้วน แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ที่ 11 ที่ 12 และที่ 25 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ที่ 11 ที่ 12 และที่ 25 อ้างมาในฟ้องด้วยว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขาดไปไม่ครบถ้วนและมีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายเงินส่วนที่ขาดดังกล่าวซึ่งจำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ที่ 11 ที่ 12 และที่ 25 ครบถ้วนแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินส่วนนี้ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นพิพาทข้อ 2 ว่า โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยส่วนที่ขาดตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่แล้ววินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มแก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าคนละ 350 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าชดเชยเพิ่มให้แก่โจทก์คนละ 7,000 บาท ยกเว้นโจทก์ที่ 3 ที่ 5 ที่ 13 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 28 ที่ 34 และที่ 47 จ่ายเพิ่มให้คนละ 5,600 บาท โจทก์ที่ 10 จ่ายเพิ่มให้ 2,100 บาท และโจทก์ที่ 55 จ่ายเพิ่มให้ 4,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวนจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 เมษายน 2548 สำหรับโจทก์ที่ 11 ที่ 12 ที่ 25 ถึงที่ 35 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2548 สำหรับโจทก์ที่ 13 ถึงที่ 24 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 23 เมษายน 2548 สำหรับโจทก์ที่ 36 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2548 และสำหรับโจทก์ที่ 37 ถึง 55 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2548 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share