แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันเป็นเงิน 300,000 บาท ผู้ประกันขอลดค่าปรับและขอผ่อนชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 337, 80, 83, 90 และ 91 ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยที่ 2 ชั่วคราว ศาลชั้นต้นตีราคา 300,000 บาท ต่อมาผู้ประกันผิดสัญญาประกันโดยไม่ส่งตัวจำเลยที่ 2 ตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นจึงสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน ครั้นวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2551 ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ลดค่าปรับและผ่อนชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาลตามนัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันเป็นเงิน 300,000 บาท ผู้ประกันขอลดค่าปรับและขอผ่อนชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และไม่จำต้องสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับระหว่างฎีกาและขอผ่อนชำระค่าปรับของผู้ประกันอีก”
พิพากษายกฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับของผู้ประกัน