คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8971/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง เป็นการห้ามเด็ดขาดไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดหรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์ไว้ก่อนแล้ว แต่ให้ใช้วิธีขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์นั้นแทน ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการขออายัดเฉพาะเงินเดือนส่วนที่ยังไม่ถูกอายัดก็ได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินเดือนของจำเลยทั้งสองไว้โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง กับอายัดเงินโบนัสและเงินตอบแทนกรณีออกจากงานไว้แล้ว หากจะอายัดเงินเดือนส่วนที่เหลือจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นอายัดไว้ จำเลยทั้งสองก็จะเดือดร้อนไม่มีเงินเหลือเพื่อดำรงชีพ ทั้งโจทก์ก็ไม่แสดงให้ปรากฏว่าเงินที่เหลือจากการถูกอายัดคดีอื่นมีเพียงใด จึงไม่มีสิทธิขอให้อายัดเงินเดือนของจำเลยทั้งสองเพิ่มเติม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,000 บาท โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงบังคับคดี โดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยทั้งสอง แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าจำเลยทั้งสองถูกอายัดเงินเดือนไว้ในคดีอื่นแล้ว ไม่อาจอายัดซ้ำได้ โจทก์จึงยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องประกอบรายงานข้อเท็จจริงของกองอายัดทรัพย์สิน กรมบังคับคดีแล้ว เห็นว่า การขออายัดของโจทก์เป็นการอายัดซ้ำ และมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” จากบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการห้ามเด็ดขาด ไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดหรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์ไว้ก่อนแล้ว แต่ให้ใช้วิธีขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์นั้นแทน ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลยทั้งสอง ก็ชอบที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองถูกยึดหรืออายัดได้ แต่จะขออายัดซ้ำไม่ได้ ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการอายัดเฉพาะเงินเดือนส่วนที่ยังไม่ถูกอายัดจากเจ้าหนี้รายอื่นนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้นเป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร และในวรรคสองบัญญัติไว้ด้วยว่า การกำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) ให้ศาลกำหนดให้ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น และไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการพลเรือน ในขณะนั้น โดยคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและจำนวนบุพการีและผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ซึ่งตามรายงานของกรมบังคับคดีลงวันที่ 29 กันยายน 2546 ก็ระบุว่า เนื่องจากมีคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 271/2546 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2546 เรื่อง การอายัดทรัพย์สินกำหนดให้การอายัดเงินเดือน ค่าจ้าง หรือรายได้อื่นๆ ในลักษณะเดียวกันให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดโดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ประกอบและห้ามมิให้อายัดซ้ำ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 290 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินเดือนของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยคำนึงถึงบทบัญญัติแห่งมาตรา 286 ดังกล่าวแล้วว่าจำนวนเงินที่อายัดเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้แล้ว หากจะอายัดเงินส่วนที่เหลือจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นอายัดไว้อีก ลูกหนี้ก็จะเดือดร้อนหมดเนื้อหมดตัวไม่มีเงินเหลือเพื่อจะดำรงชีพอยู่ได้ ย่อมจะเป็นการขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 286 และทำให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่อาจเกิดผลได้ แม้ศาลชั้นต้นจะเพียงแต่สอบถามคู่ความแล้วสั่งงดไต่สวนโดยไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองมีเงินเดือนส่วนที่เหลือจากอายัดเกิน 10,000 บาท หรือไม่ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินโบนัสและเงินตอบแทนกรณีออกจากงานไว้แล้ว ส่วนเงินเดือนก็มีเจ้าหนี้อื่นอายัดไว้อีก แสดงว่าเงินเดือนเหลือจากการอายัดมีจำนวนไม่มากเกินฐานะของลูกหนี้ในการดำรงชีพตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้พิจารณาแล้ว ทั้งโจทก์ก็ไม่แสดงให้ปรากฏว่าเงินเหลือจากการถูกอายัดคดีอื่นมีเพียงใด และเจ้าพนักงานบังคับคดีเคยอายัดให้เจ้าหนี้รายอื่นดังฎีกาอย่างไร คำสั่งศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share