คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8971/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (2) ฟ้องต้องมีคดีระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย กรณีจำเลยเป็นนิติบุคคล ในคำฟ้องช่องคู่ความเพียงระบุชื่อนิติบุคคลซึ่งเป็นจำเลยและโดยผู้แทนนิติบุคคลจำเลยคนใดคนหนึ่งที่มีอำนาจทำการแทนได้ หาจำต้องระบุผู้แทนนิติบุคคลหรือกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนหมดทุกคนไม่ โจทก์ระบุในช่องคู่ความว่า ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสกลนคร โจทก์ บริษัทสกลนคร เอ็ม.เจ. (1996) จำกัด โดย ก. กรรมการผู้จัดการ จำเลย ไม่จำต้องระบุ ว. กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกคนด้วยเพราะ ก. และ ว. คนใดคนหนึ่งมีอำนาจทำการแทนจำเลยได้โดยลำพัง ฟ้องโจทก์จึงมีผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (2) แล้ว
โจทก์ฟ้องโดยระบุวันกระทำผิดฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ส่วนวันทราบคำสั่งแม้ไม่ระบุว่าเป็นวันใด แต่ก็ระบุว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว วันทราบคำสั่งไม่ใช่วันกระทำความผิดโดยตรง และเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ ส่วนฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยดัดแปลงอาคาร เป็นการบรรยายการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่ฟ้อง แม้ไม่ตรงกับคำเบิกความของพยานและเอกสารของโจทก์ชั้นพิจารณาตามที่จำเลยฎีกา ก็เป็นเรื่องว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาต่างกับฟ้องหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 22, 40, 41, 65, 67, 70, 71 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 70 ปรับ 80,000 บาท และให้ปรับจำเลยตามมาตรา 65 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 70 อีกวันละ 4,000 บาท รวม 60 วัน เป็นเงิน 240,000 บาท รวมปรับจำเลย 320,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารโรงแรม เอ็ม.เจ. เลขที่ 399 หมู่ที่ 2 ถนนคูเมือง ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร มีนายเกียรติสุทธิ์เป็นกรรมการผู้จัดการ และนางสาววารีวรรณเป็นกรรมการ คนใดคนหนึ่งมีอำนาจทำการแทนจำเลยได้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 นายเกียรติสุทธิ์กับพวกก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ชั้น จำนวน 8 คูหา พื้นที่ปราะมาณ 6,800 ตารางเมตร โดยไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร วันที่ 22 มกราคา 2541 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งแจ้งให้นายเกียรติสุทธิ์กับพวกระงับการก่อสร้างอาคารและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 30 วัน ตามคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและคำสั่งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2541 จำเลยยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารตามคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารเอกสารหมาย จ.9 และได้รับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2541 ตามใบอนุญาตดัดแปลงอาคารเอกสารหมาย จ.10
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.13 นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสกลนครมอบอำนาจให้นางสาวฐิติรัตน์แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย แต่ตามบันทึกที่นางสาวฐิติรัตน์เสนอขอรับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ดำเนินคดีแก่นายเกียรติสุทธิ์กับพวกไม่ใช่จำเลย เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเพราะเป็นคนละคนกัน จึงถือว่าไม่มีการร้องทุกข์และไม่มีการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ ไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ เมื่อไม่ปรากฏว่าการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่วินิจฉัยว่าการแจ้งคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างของเจ้าพนักงานท้องถิ่นชอบหรือไม่ เป็นการไม่ชอบ และโจทก์ไม่อาจอาศัยคำสั่งแจ้งให้ระงับการก่อสร้างไม่สมบูรณ์มาฟ้องจำเลย นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40, 67 โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับการแจ้งคำสั่งดังกล่าวว่าชอบหรือไม่ จึงชอบแล้ว คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงปรับกับคดีนี้ได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลระบุในคำฟ้องแต่เพียงว่า บริษัทสกลนคร เอ็ม.ใจ. (1996) จำกัด โดยนายเกียรติสุทธิ์กรรมการผู้จัดการ โดยมิได้ระบุนางสาววารีวรรณกรรมการของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วยหมดทุกคน เป็นคำฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (2) ฟ้องต้องมีคดีระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย กรณีจำเลยเป็นนิติบุคคล ในคำฟ้องช่องคู่ความเพียงระบุชื่อนิติบุคคลซึ่งเป็นจำเลยและโดยผู้แทนนิติบุคคลจำเลยคนใดคนหนึ่งที่มีอำนาจทำการแทนได้ หาจำต้องระบุผู้แทนนิติบุคคลหรือกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนหมดทุกคนไม่ คดีนี้โจทก์ระบุในช่องคู่ความระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสกลนคร โจทก์ บริษัทสกลนคร เอ็ม.เจ. (1996) จำกัด โดยนายเกียรติสุทธิ์กรรมการผู้จัดการ จำเลย จึงไม่จำต้องระบุนางสาววารีวรรณกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกคนด้วย เพราะนายเกียรติสุทธิ์และนางสาววารีวรรณคนใดคนหนึ่งมีอำนาจทำการแทนจำเลยได้โดยลำพัง ฟ้องโจทก์จึงมีผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (2) บัญญัติบังคับไว้ คำฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่แสดงว่าจำเลยทราบคำสั่งวันใด และฝ่าฝืนคำสั่งวันใด และโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำการดัดแปลงอาคารซึ่งขัดกับคำเบิกความของนายฮิลเล่อร์ที่เบิกความว่าก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ขัดกับคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ที่ให้ระงับการก่อสร้างและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยระบุวันกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ส่วนวันทราบคำสั่งแม้ไม่ระบุว่าเป็นวันใด แต่ก็ระบุว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว วันทราบคำสั่งไม่ใช่วันกระทำความผิดโดยตรง และเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ ส่วนฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยดัดแปลงอาคาร เป็นการบรรยายการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่ฟ้อง แต่ไม่ตรงกับคำเบิกความของพยานและเอกสารของโจทก์ในชั้นพิจารณาตามที่จำเลยฎีกา ก็เป็นเรื่องว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาต่างกับฟ้องหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ จำเลยฎีกาว่านายเกียรติสุทธิ์กับพวกเป็นผู้ก่อสร้างและเป็นอาคารอื่น มิใช่อาคารโรงแรม เอ็ม.เจ. ของจำเลย ดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ที่ระบุว่าผู้กระทำความผิดคือนายเกียรติสุทธิ์กับพวก เห็นว่า แม้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 จะระบุว่านายเกียรติสุทธิ์กับพวกก่อสร้างอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาต มิได้ระบุว่าเป็นการกระทำของจำเลย มิได้ระบุว่าเป็นอาคารอะไร และขนาดเท่าใด แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายฮิลเลอร์พยานโจทก์ว่า ขณะตรวจพบการกระทำความผิดมีเพียงโครงสร้างของอาคารเท่านั้น ยังไม่ทราบว่าเป็นอาคารอะไร ใช้เพื่อกิจการใด นายเกียรติสุทธิ์บอกว่าอาคารที่ก่อสร้างนั้นเป็นของนายเกียรติสุทธิ์ ทั้งตามหลักฐานโฉนดที่ดินที่ตรวจสอบก็ปรากฏว่ามีนายเกียรติสุทธิ์กับพวกเป็นเจ้าของที่ดินที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าวบันทึกเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นการบันทึกรายงานตามที่นายฮิลเล่อร์ตรวจพบในเบื้องต้นเท่านั้น มิใช่เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นอาคารอื่น ซึ่งต่อมานายฮิลเลอร์ก็ได้ถ่ายรูปอาคารที่ดัดแปลงไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.8 อาคารที่ดัดแปลงมีลักษณะคล้ายตึกแถวแบ่งเป็นคูหาได้ประมาณ 8 คูหา และเชื่อมต่อจากด้านหลังอาคารโรงแรม เอ็ม.เจ. ของจำเลยจึงมีการระบุรายละเอียดและที่ตั้งของอาคารดังกล่าวไว้ในคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารและคำสั่งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 และต่อมาจำเลยได้ยื่นคำขออนุญาตดัดแปลงอาคารโรงแรม เอ็ม.เจ. ของจำเลย ตามคำขออนุญาตดัดแปลงอาคารเอกสารหมาย จ.9 อาคารที่นายฮิลเลอร์ตรวจพบว่านายเกียรติสุทธิ์ดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และที่จำเลยโดยนายเกียรติสุทธิ์ยื่นคำขออนุญาตดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและมีขนาดใกล้เคียงกันเชื่อว่าอาคารที่นายเกียรติสุทธิ์กับพวกทำการดัดแปลงและอาคารที่จำเลยขออนุญาตดัดแปลงนั้นเป็นอาคารเดียวกัน พยานหลักฐานโจทก์ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ปัญหาต้องวินินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษปรับจำเลยสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า อาคารที่จำเลยดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นเป็นอาคารสาธารณะใช้ประกอบการให้บุคคลทั่วไปเข้าพักแรมจะต้องควบคุมการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยเข้มงวด เพื่อมิให้เกิดอันตรายแก่บุคคลทั่วไป กฎหมายจึงกำหนดโทษไว้สูงกว่าอาคารทั่วๆ ไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษปรับจำเลยมานั้นจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share