แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 เป็นข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน ดังนั้นหากผู้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนมิได้ยื่นขอภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามปกติบุคคลนั้นย่อมเสียสิทธิ แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคหนึ่งไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด ก็ต้องแปลว่า การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่
โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายังไม่พอ ที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นใด จึงยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนล่าช้า เห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยเขตพื้นที่ 6 ที่ รส 0725/31522 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 151/2545 ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพในส่วนของเงินบำเหน็จตามกฎหมายแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยเขตพื้นที่ 6 ที่ รส 0725/31522 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 151/2545 ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินบำเหน็จชราภาพตามสิทธิของโจทก์แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทแมนดารินโฮเต็ล จำกัด และเป็นผู้ประกันตนโดยจ่ายเงินสมทบในกรณีชราภาพมาเป็นเวลา 12 เดือน แล้วพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2542 ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพจากจำเลย จำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ เนื่องจากยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเกินกำหนด 1 ปี ตามกฎหมาย โจทก์ยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 151/2545 ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนเกินระยะเวลา 1 ปี ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อไป ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เห็นว่า พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 56 บัญญัติว่า “ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดเห็นว่าตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 และประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น และให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยเร็ว
ประโยชน์ทดแทนตามวรรคหนึ่งที่เป็นตัวเงิน ถ้าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานให้เงินนั้นตกเป็นกองทุน” จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะมีสิทธิพึงได้รับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แล้วก็ตาม แต่หากบุคคลดังกล่าวประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทน บุคคลนั้น ๆ ก็จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติข้างต้น ซึ่งเป็นข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน ดังจะเห็นได้จากความในวรรคสองว่า แม้สำนักงานประกันสังคมจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวรับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินแล้วก็ตาม แต่หากบุคคลดังกล่าวไม่มารับภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมให้เงินนั้นตกเป็นกองทุนประกันสังคม ดังนั้น หากผู้ยื่นคำขอมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน ตามปกติบุคคลนั้นก็ย่อมเสียสิทธิ แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาดก็ต้องแปลว่า การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้นต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่ คดีนี้โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพในส่วนของบำเหน็จชราภาพเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน คือวันที่ 1 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายังไม่พอที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นใด จึงยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนล่าช้า เห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน
พิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี.