คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาบริการกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างให้บริการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเป็นตัวแทน 25 คน และผู้บริหารงานขาย 5 คน ในการเป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าเข้าทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ให้ได้ผลงานเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 5,000,000 บาท ภายในรอบระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 ซึ่งโจทก์ได้ค่าตอบแทน 1,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไปรับแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 หากบุคลากรทำผลงานให้โจทก์ไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินตามวิธีคิดคำนวณที่กำหนดไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กระทำไม่ได้เบี้ยประกันภัยได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่การที่โจทก์จ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 แสดงว่าโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่จะครบรอบการผลิตผลงานให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2554 เป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้แก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) ซึ่งห้ามมิให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท และบริษัทที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 (7) ดังกล่าวต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 93 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตให้จ่ายเงินหรือค่าตอบแทนภายในขอบเขตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การทำสัญญาบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ถือเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาบริการมาฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยทั้งสามได้ การที่โจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้โจทก์แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 767,163.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 741,564.35 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 741,564.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 14,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการประกันชีวิตทุกประเภท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดประกอบกิจการรับเป็นที่ปรึกษาฝึกอบรมรับจัดการธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารงานการขาย มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ทำสัญญาบริการสรรหาและฝึกอบรมบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนและผู้บริหารงานขายกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างให้บริการสรรหาบุคคลากรจำนวน 30 คน แบ่งเป็นตัวแทนจำนวน 25 คน และผู้บริหารงานขายจำนวน 5 คน เพื่อเป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าที่สนใจเข้าทำประกันภัยกับโจทก์และโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ในรอบระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 รวมระยะเวลา 12 เดือน เป้าหมายผลงานเบี้ยประกันภัยรับปีแรกเป็นจำนวน 5,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม วันที่ 10 มีนาคม 2553 โจทก์จ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ตามสัญญาดังกล่าว ให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ผลิตผลงานเบี้ยประกันภัยรับปีแรกให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,253,236 บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาบริการมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาบริการมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขและตารางคิดคำนวณการจ่ายค่าตอบแทนเอกสารแนบท้ายสัญญา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วยโดยบุคลากรจำนวน 30 คน ที่จำเลยที่ 1 ฝึกอบรมแบ่งเป็นตัวแทนจำนวน 25 คน และผู้บริหารงานขายจำนวน 5 คน เพื่อเป็นตัวแทนของโจทก์โดยจะต้องหาลูกค้าที่สนใจเข้าทำประกันภัยกับโจทก์ให้ได้ผลงานเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรกจำนวน 5,000,000 บาท ภายในรอบระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 หากบุคลากรดังกล่าวผลิตผลงานให้แก่โจทก์ไม่ได้ครบถ้วนตามเป้าหมายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินตามวิธีคิดคำนวณ การเรียกคืนผลตอบแทนเอกสารแนบท้ายสัญญาด้วยโดยโจทก์จ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 แสดงว่าโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่จะครบรอบการผลิตผลงานให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2554 การจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้แก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) ซึ่งห้ามมิให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท และบริษัทที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 (7) ดังกล่าวต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 93 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตให้จ่ายเงินหรือค่าตอบแทนภายในขอบเขตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การทำสัญญาบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 ถือเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาบริการมาฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยทั้งสามได้ การที่โจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้โจทก์แก่จำเลยเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์มิใช่ข้อสาระสำคัญและเป็นความเข้าใจของโจทก์เองไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
1/2

Share