คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ระบุไว้ชัดเจนว่าคู่หย่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจจดทะเบียนหย่ากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน โดยตอนท้ายบันทึกยังระบุอีกว่า บันทึกไว้เป็นหลักฐานและอ่านให้ฟังแล้วรับว่าเป็นความจริงทุกประการ จึงลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมากจึงตัดสินใจหย่าตามความต้องการของ ท. โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สินกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องหนี้สินกระทบต่อฐานะ ตำแหน่ง และความก้าวหน้าในทางราชการของ ท. ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของ ท. คำร้องขอคดีนี้จึงขัดกับบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ทั้งเหตุผลในคำร้องเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของผู้ร้องเท่านั้น อันแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าคำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าการหย่าของผู้ร้องกับพันเอกทรงศักดิ์ตกเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ทางไต่สวนผู้ร้องนำสืบได้ความว่า ผู้ร้องกับ พันเอกทรงศักดิ์ จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2511 ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาพันเอกทรงศักดิ์ได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปีเศษ ระหว่างนั้นผู้ร้องทำงานอยู่ที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเสียค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายให้พันเอกทรงศักดิ์ เดือนละ 30,000 บาท ถึง 40,000 บาท ทำให้ต้องกู้ยืมเงินจากเพื่อน ๆ ในบริษัทและภริยานายทหารด้วยกัน ภายหลังผู้ร้องมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าหนี้ได้เร่งรัดให้พันเอกทรงศักดิ์ชำระหนี้ มีการไปร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของพันเอกทรงศักดิ์ พันเอกทรงศักดิ์จึงขอร้องเชิงบีบบังคับผู้ร้องให้ไปจดทะเบียนหย่า ผู้ร้องจำต้องไปจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2536 ที่สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองนครปฐม ภายหลังจากหย่าผู้ร้องกับพันเอกทรงศักดิ์ยังคงอยู่กินฉันสามีภริยาเรื่อยมา ในปี 2537 ผู้ร้องลาออกจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเงินบำเหน็จที่เหลือประมาณ 750,000 บาท มาชำระหนี้ หลังจากนั้นในปี 2538 พันเอกทรงศักดิ์เกษียณอายุราชการ ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2554 พันเอกทรงศักดิ์ถึงแก่กรรมด้วยโรคไตวาย ตามแบบรับรองรายการทะเบียนคนตาย ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดของพันเอกทรงศักดิ์ จึงไปติดต่อกับกรมการเงินกระทรวง กลาโหม แต่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องไม่สามารถรับบำเหน็จตกทอดได้เพราะผู้ร้องหย่ากับพันเอกทรงศักดิ์แล้ว ซึ่งผู้ร้องได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ว่าการหย่าระหว่างผู้ร้องกับพันเอกทรงศักดิ์เป็นการหย่าในทางทะเบียนเท่านั้นแต่ยังอยู่กินด้วยกัน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า คำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ระบุไว้ชัดเจนว่า คู่หย่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจจดทะเบียนหย่ากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน โดยตอนท้ายบันทึกยังระบุว่าบันทึกไว้เป็นหลักฐานและอ่านให้ฟังแล้วรับว่าเป็นความจริงทุกประการ จึงลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ อีกทั้งผู้ร้อง พันเอกทรงศักดิ์ พยานสองคนและนายทะเบียนได้ลงลายมือชื่อไว้ครบถ้วน แต่คดีนี้ผู้ร้องกลับอ้างในคำร้องขอว่า ผู้ร้องมีหนี้สินเป็นจำนวนมากจึงตัดสินใจหย่าตามความต้องการของพันเอกทรงศักดิ์ โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สินกัน เพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้สินกระทบต่อฐานะตำแหน่งและความก้าวหน้าในทางราชการของพันเอกทรงศักดิ์ ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของพันเอกทรงศักดิ์ เช่นนี้ คำร้องขอคดีนี้จึงขัดกับบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าที่ระบุว่า คู่หย่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจจดทะเบียนหย่ากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน ทั้งเหตุผลในคำร้องเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของผู้ร้องเท่านั้น อันแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าคำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องเป็นคดีนี้ ดังนั้น ปัญหาข้ออื่นของผู้ร้องจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share