คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยนำเข้าเครื่องอะไหล่อุปกรณ์วิทยุ จากประเทศญี่ปุ่น และสำแดงราคาของสินค้าไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อเสียภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่า ไม่มีรายละเอียดราคาท้องตลาดสำหรับสินค้าของจำเลย จึงให้จำเลยวางเงินประกันภายหลังได้มีการตรวจสอบราคาจากการนำเข้าของรายอื่นแล้ว ปรากฏว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินค่าภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระเพิ่ม แต่จำเลยไม่ชำระ การบรรยายฟ้องดังนี้ จึงแสดงถึงสภาพข้ออ้างและข้อหาตลอดจนการที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิไว้อย่างชัดแจ้ง ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และมีคำพิพากษาไปในวันเดียวกัน ทำให้จำเลยไม่มีเวลาหรือโอกาสโต้แย้งคำสั่งได้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์โดยไม่ต้องโต้แย้งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเครื่องอะไหล่อุปกรณ์วิทยุ ซึ่งผลิตในประเทศญี่ปุ่น จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อสินค้าดังกล่าวมาถึงด่านท่าเรือกรุงเทพฯ จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 สำแดงราคาสินค้าดังกล่าวเป็นเงิน 161,780.06 บาทเป็นค่าอากรขาเข้า 61,039.31 บาท ภาษีการค้า 19,259.62 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 1,925.96 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1พิจารณาเห็นว่า สินค้าที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าวยังไม่มีรายละเอียดราคาท้องตลาดเทียบเคียงเพื่อประเมินภาษีอากรในขณะนั้นได้ จึงให้จำเลยชำระภาษีอากรตามราคาสินค้าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าไปก่อน และให้จำเลยวางเงินเพื่อประกันภาษีอากรเป็นค่าอากรขาเข้า 7,800 บาท ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล 2,200บาท และได้ชักตัวอย่างสินค้าดังกล่าวเพื่อตรวจสอบ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบราคาสินค้าแล้ว โดยอาศัยข้อมูลจากการที่ผู้นำเข้ารายอื่นได้นำสินค้าประเภทเดียวกัน ทั้งมีแหล่งกำเนิดเดียวกันเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเกณฑ์ ปรากฏว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า มีราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำนวนและชนิดของไม่ตรงตามสำแดงเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 จึงประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรเพิ่มขึ้นเป็นราคาสินค้า 359,173.29 บาท จะต้องชำระอากรขาเข้า130,061.64 บาท ภาษีการค้า 43,147.88 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล4,314.79 บาท เมื่อนำเงินภาษีอากรที่จำเลยชำระไว้แล้วกับเงินประกันดังกล่าวไปหักและได้หักส่วนลดให้แล้ว ปรากฏว่าเงินประกันไม่คุ้มภาษีอากรโดยจำเลยจะต้องชำระภาษีอากรเพิ่มอีกดังนี้ คืออากรขาเข้า 122,261.64 บาท ภาษีการค้า 41,147.88 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 4,114.79 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 167,524.31 บาทเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 จึงได้ประเมินภาษีอากรและแจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยนำเงินภาษีอากรที่จะต้องชำระเพิ่มตามจำนวนดังกล่าวไปชำระให้ครบถ้วน จำเลยได้รับทราบการประเมินภาษีอากรแล้วแต่เพิกเฉย ไม่นำเงินค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระเพิ่มเติมตามจำนวนที่ได้รับแจ้งไปชำระให้แก่โจทก์ ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ที่ 1 และจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินหรือโต้แย้งภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินจำเลยต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยเริ่มนับเมื่อพ้นสิบห้าวัน ถัดจากเดือนภาษี คือ นับจากวันที่16 มกราคม 2525 ถึงวันที่นำเงินภาษีการค้าไปชำระ ซึ่งโจทก์ได้คำนวณไว้ถึงวันฟ้องรวม 100 เดือน เป็นเงิน 41,147.88 บาท และต้องเสียเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า เป็นเงิน 4,114.79 บาท รวมเป็นเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 45,262.67 บาท รวมเป็นเงินภาษีอากรเพิ่มกับเงินเพิ่มภาษีอากรต่าง ๆ จำนวน 212,786.98 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยมิได้ชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 212,786.98 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยได้นำเครื่องอะไหล่อุปกรณ์วิทยุซึ่งผลิตในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร และได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตามฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 โดยสำแดงราคาสินค้าเป็นเงิน 161,787.06 บาท (ที่ถูก161,780.06 บาท) ตามใบกำกับสินค้าที่บริษัทผู้ขายในประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ออกให้ จำเลยมิได้สำแดงรายการเท็จและจำเลยก็ได้ชำระภาษีอากรครบถ้วนแล้ว พร้อมทั้งวางเงินประกันค่าภาษีอากร การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินราคาสินค้าดังกล่าวเป็นเงิน359,173.29 บาท ทำให้จำเลยต้องชำระค่าภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มขึ้นมากเป็นการประเมินราคาสูงกว่าความเป็นจริงโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 มิได้คำนึงถึงราคาอันแท้จริงของสิ่งของที่จำเลยนำเข้ามา แต่ใช้วิธีการประเมินราคาสิ่งของที่จำเลยนำเข้าโดยใช้ราคาของสิ่งของยี่ห้อที่มีราคาแพงมาประเมิน เป็นการไม่ชอบธรรมแก่จำเลย จำเลยไม่เคยได้รับการแจ้งประเมินภาษีอากรที่จะต้องชำระภาษีอากรเพิ่มจึงไม่ต้องรับผิดในค่าภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งเงินเพิ่ม ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมกล่าวคือ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำสินค้าเข้ามาภายในราชอาณาจักรซึ่งจะต้องเทียบเคียงเพื่อประเมินภาษีอากร แต่ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยนำเข้าสินค้าอย่างไร เมื่อใด โดยวิธีใดและสินค้าแต่ละประเภทซึ่งจำเลยนำเข้าจะต้องเทียบเคียงเพื่อเสียภาษีอย่างไรและจำเลยสำแดงเท็จส่วนไหน รายการใดบ้าง ฟ้องของโจทก์บรรยายฟุ่มเฟือยวกวน จนทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องเพื่อต่อสู้คดีโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่จำเลย
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 212,786.98 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำสินค้าเข้าอย่างใด เมื่อใด โดยวิธีใด และสินค้าแต่ละประเภทที่จำเลยนำเข้าจะต้องเทียบเคียงเพื่อเสียภาษีอย่างไร จำเลยสำแดงเท็จในส่วนไหนรายการใดบ้างจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ข้อโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวนี้ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2523 จำเลยนำเข้าเครื่องอะไหล่อุปกรณ์วิทยุจากประเทศญี่ปุ่นและสำแดงราคาของสินค้าไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า ลงวันที่17 ธันวาคม 2524 เป็นเงิน 161,780.06 บาทเพื่อเสียภาษีอากรได้แก่ อากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่า ไม่มีรายละเอียดราคาท้องตลาดสำหรับสินค้าของจำเลยจึงให้จำเลยวางเงินประกันไว้ 10,000 บาทภายหลังได้มีการตรวจสอบราคาจากการนำเข้าของรายอื่นแล้ว ปรากฏว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดที่มีราคา 359,173.29 บาท เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1(ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์ที่ 1) จึงประเมินค่าภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มขึ้นแต่จำเลยไม่ชำระ การบรรยายฟ้องดังนี้จึงแสดงถึงสภาพข้ออ้างและข้อหาตลอดจนการที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิไว้อย่างชัดแจ้ง จำเลยสามารถเข้าใจคำฟ้องและต่อสู้คดีได้ตรงกับการกล่าวอ้างของโจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีตามคำร้องของจำเลย ฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม2533 เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี พิเคราะห์แล้วการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งปกติจำเลยจะต้องโต้แย้งคำสั่งของศาลเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป แต่ในกรณีนี้ ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และมีคำพิพากษาไปในวันเดียวกันทำให้จำเลยไม่มีระยะเวลาหรือโอกาสโต้แย้งคำสั่งได้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์โดยไม่ต้องโต้แย้งได้ และในปัญหานี้ เห็นว่า หลังจากจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ศาลภาษีอากรกลางนัดชี้สองสถานในวันที่20 พฤศจิกายน 2533 ปรากฏว่าจำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานศาลภาษีอากรกลางจึงสั่งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันชี้สองสถานว่า จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้ และให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24 ธันวาคม 2533 ซึ่งในวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวจำเลยร้องขอเลื่อนคดี อ้างว่า ทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่นซึ่งนัดไว้ก่อนแล้ว ดังนี้ ได้ความว่าจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ทั้งในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ลงวันที่30 มกราคม 2529 ข้อ 8 ซึ่งทำให้จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลย และในวันนัดชี้สองสถานซึ่งจำเลยทราบนัดตามคำสั่งของศาลแล้วก็ไม่มาศาล นับจากวันที่จำเลยยื่นคำให้การคือวันที่ 10 ตุลาคม 2533 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่ศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถานถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2533เป็นเวลาถึงสองเดือนเศษซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร จำเลยน่าที่จะติดตามและสอบถามถึงวันนัดที่จำเลยมีวันว่างเพื่อขอเลื่อนคดีเสียก่อนนั้นได้ หากจำเลยประสงค์จะซักค้านพยานโจทก์ดังอุทธรณ์ของจำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ แต่ในทางตรงกันข้ามพฤติการณ์ของจำเลยกลับปรากฏว่า จำเลยไม่เอาใจใส่และสนใจดำเนินคดีเท่าที่ควร ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นผลมาจากความบกพร่องของจำเลยเองและคำสั่งเช่นว่านี้เป็นดุลพินิจที่มีเหตุสมควร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share