คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.และฮ.ต่างเข้าครอบครองที่ดินตามส่วนที่ช.เจ้าของที่ดินยกให้โดยไม่ได้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกแต่อย่างใดเมื่อ ฮ. ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรได้ครอบครองต่อมาจนถึงปัจจุบันโดย พ. และโจทก์ต่างครอบครองและทำกินเป็นสัดส่วนต่างหากจากกัน เป็นเวลานานหลายสิบปีเช่นนี้แสดงว่าต่างฝ่ายต่างก็มีเจตนาครอบครองที่ดินเพื่อตนเองอย่างเป็นเจ้าของ เมื่อโจทก์ครอบครองที่ดินโดยความสงบและเปิดเผยเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 พ. ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยทั้งสองและพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน จำเลยทั้งสองอุปการะเลี้ยงดู พ.ตลอดมาพ. เคยยกที่ดินบางส่วนในแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองมาก่อนโดยไม่เสียค่าตอบแทน หากที่ดินพิพาทเป็นของ พ.จริงพ.ก็น่าจะยกให้จำเลยทั้งสองโดยเสน่หาโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า พ. ขายที่ดินให้จึงไม่น่าเชื่อถือ น่าเชื่อว่า พ. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองโดยเสน่หาโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกมาตรา 1299วรรคสอง ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองรับโอนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 4604 ตำบลไทรงาม (บางไทรปา)อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) เนื้อที่ 100 ไร่ 1 งาน72 ตารางวา มีชื่อนายเชิง ศรีพุ่มเอม กับนางเพิ่ม ขำคำ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2500 นายเชิงได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนจำนวน 30 ไร่ ทางด้านทิศตะวันตกให้แก่นายฮวดบิดาของโจทก์ แต่ไม่ได้จดทะเบียน บิดามารดาของโจทก์และโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว ก่อนที่นายฮวดจะถึงแก่กรรมได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์โดยโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้จำนวนเนื้อที่ 30 ไร่ โดยการครอบครองปรปักษ์ ต่อมาจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของนางเพิ่ม ขำคำ ได้มาบอกให้โจทก์เสียค่าเช่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองให้แก่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว โดยนางเพิ่มได้โอนขายให้แก่จำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4604 ตำบลไทรงาม (บางไทรปา) อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) เนื้อที่ 30 ไร่ ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกับโจทก์ไปจัดการยื่นคำขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินตามที่โจทก์ครอบครองเนื้อที่ 30 ไร่ ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินโดยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีก็ตามแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จึงไม่อาจยกเรื่องการครอบครองปรปักษ์ต่อสู้จำเลยได้ และฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวาร ให้รื้อถอนบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4604 เลขที่ดิน 7 ตำบลไทรงาม (บางไทรปา) อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม ถ้าหากโจทก์ไม่ยอมรื้อถอนจำเลยจะขอเป็นผู้รื้อถอนเองโดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด และห้ามไม่ให้โจทก์และบริวารเข้าทำนา ทำประโยชน์หรือเข้าเกี่ยวข้อบนที่ดินอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากนางเพิ่มนั้นเป็นการได้มาโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองกับนางเพิ่มสมรู้ร่วมคิดกันในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยระบุว่ามีการเสียค่าตอบแทนซึ่งความจริงไม่มีการเสียก็เพื่อที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4604 เลขที่ดิน 7ตำบลไทรงาม (บางไทรปา) อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี)เนื้อที่ 30 ไร่ ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินตามแผนที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วน ลงวันที่10 มกราคม 2527 คำขอนอกจากนี้ให้ยก ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้บังคับตามฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองให้โจทก์รื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายปีละ5,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทเลิกเกี่ยวข้องต่อไป คำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนางโกย รื่นเริงกลิ่น เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า นายเชิงได้ยกที่ดินพิพาทให้นายฮวดแล้ว นายฮวดได้ยกให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่านายเชิงมีบุตร 10 คน รวมทั้งนายฮวดบิดาโจทก์นางเพิ่มมารดาจำเลยและนางโกยด้วย บุตรทั้ง 10 คนนี้ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เพียง 2 คน คือนางโกยกับนางเพิ่ม นางโกยจึงเป็นพยานคนกลางและเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียในคดีคำเบิกความของนางโกยจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า เดิมนายเชิงได้ยกที่ดินประมาณ 70 ไร่ให้นางเพิ่มโดยให้นางเพิ่มมีชื่อร่วมในโฉนดที่ดิน ส่วนที่ดินที่เหลือในโฉนดคือที่ดินพิพาทยังไม่ได้ยกให้ผู้ใด อาจจะเป็นเพราะว่านายเชิงต้องการเก็บที่ดินไว้ทำกินเอง แต่เมื่อเห็นว่านายฮวดซึ่งเป็นบุตรไม่มีที่ทำกิน นายเชิงจึงได้ยกให้นายฮวดเข้าทำกินในที่ดินพิพาท ทั้งนี้จะเห็นได้ว่านายฮวดได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยใช้ทำนามาก่อนและภายหลังนายเชิงถึงแก่กรรมตลอดมาจนนายฮวดถึงแก่กรรมเป็นเวลา 20 กว่าปี โจทก์อาศัยอยู่กับนายฮวดช่วยนายฮวดทำนาในที่ดินพิพาท เมื่อนายฮวดถึงแก่กรรมโจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนปัจจุบัน การที่นางเพิ่มกับจำเลยทั้งสองทำกินในที่ดินโฉนดเลขที่ 4640 ตามฟ้องเป็นเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ และนายฮวดกับโจทก์ทำกินในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในที่ดินโฉนดดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ โดยต่างฝ่ายต่างครอบครองและทำกินเป็นสัดส่วนแยกต่างหากจากกันเป็นเวลานานหลายสิบปีเช่นนี้ แสดงว่าต่างฝ่ายก็ต่างมีเจตนาครอบครองที่ดินเพื่อตนอย่างเป็นเจ้าของตามพฤติการณ์มีเหตุผลน่าเชื่อว่านายเชิงได้ยกที่ดินพิพาทให้นายฮวดแล้วนายฮวดได้ยกให้แก่โจทก์ ที่จำเลยอ้างว่านายเชิงยกที่ดินพิพาทให้นางเพิ่มนั้นจึงไม่น่าเชื่อ และที่จำเลยอ้างว่านายเชิงยกที่ดินพิพาทให้นางเพิ่ม แล้วนางเพิ่มให้นายฮวดอยู่อาศัยทำกินตลอดชีวิตก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนัก ส่วนที่นางเพิ่มไปขอโอนมรดกที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.12 นั้น ปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกไม่มีพินัยกรรมมีทายาทหลายคนที่มีสิทธิจะได้รับมรดกรวมทั้งนายฮวดและนายโกยด้วย และบัญชีเครือญาติท้ายคำขอโอนมรดกก็ระบุชื่อทายาททุกคนไว้หมด แต่เพราะเหตุใดนางเพิ่มจึงไปขอโอนมรดกแต่เพียงผู้เดียวก็ไม่ปรากฏ และไม่ปรากฏว่าได้มีการบันทึกถ้อยคำของทายาทอื่นที่ยินยอมให้นางเพิ่มโอนมรดกแต่ผู้เดียวด้วย การโอนมรดกของนางเพิ่มจึงมีพิรุธน่าสงสัยว่าจะดำเนินการโดยชอบหรือไม่ และที่จำเลยอ้างว่าในการขอโอนมรดกที่ดินพิพาท ได้มีประกาศของทางราชการปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ดินพิพาทตามระเบียบไม่มีผู้ใดคัดค้านนั้น ข้อนี้เห็นว่า นายฮวดหรือโจทก์อาจจะไม่ทราบประกาศก็ได้เพราะอาจจะไม่ได้ไป ณ ที่ว่าการอำเภอ และการปิดประกาศไว้ ณ ที่ดินพิพาทก็ไม่ปรากฏว่าติดประกาศไว้ที่ใด เป็นที่ที่นายฮวดหรือโจทก์มีโอกาสเห็นประกาศนั้นหรือไม่ เนื่องจากที่ดินพิพาทมีเนื้อที่เกือบ 30 ไร่ มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก นอกจากนี้นางโกยซึ่งเป็นทายาทของนายเชิงคนหนึ่งก็เบิกความว่าไม่ทราบเรื่องที่นางเพิ่มไปขอโอนมรดก ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่านายฮวดหรือโจทก์จะไม่ทราบการประกาศขอโอนมรดกดังกล่าว เมื่อนายฮวดหรือโจทก์ไม่ทราบประกาศประกอบกับโฉนดที่ดินอยู่กับนางเพิ่ม นายฮวดหรือโจทก์จึงไม่สามารถที่จะคัดค้านการขอโอนมรดกที่ดินพิพาทของนางเพิ่มได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อมีประกาศให้ทราบแล้วนายฮวดหรือโจทก์ไม่คัดค้านจึงน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของนายฮวดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายเชิงได้ยกที่ดินพิพาทให้นายฮวด และนายฮวดได้ยกให้แก่โจทก์นายฮวดและโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว นายฮวดและโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ปัญหาต่อไปก็คือจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินพิพาทจากนางเพิ่มโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า นางเพิ่มเป็นมารดาของจำเลยทั้งสองอาศัยอยู่บ้านเดียวกันตลอดมาจนบัดนี้ นางเพิ่มเคยยกที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของนางเพิ่มให้จำเลยทั้งสองมาก่อนโดยไม่เสียค่าตอบแทน หากที่ดินพิพาทเป็นของนางเพิ่ม นางเพิ่มก็น่าที่จะยกให้จำเลยทั้งสองโดยเสน่หาซึ่งไม่ต้องเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน เพราะจำเลยทั้งสองก็อ้างว่าเป็นผู้อุปการะนางเพิ่มตลอดมา ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่านางเพิ่มขายที่ดินพิพาทให้นั้นจึงไม่น่าเชื่อ ส่วนหลักฐานการจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างนางเพิ่มกับจำเลยทั้งสองนั้นเป็นเรื่องที่นางเพิ่มกับจำเลยทั้งสองสมยอมทำกันขึ้นก็ได้ ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะแสดงว่าได้มีการซื้อขายกันจริง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านางเพิ่มขายที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสอง แต่น่าเชื่อว่านางเพิ่มได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองโดยเสน่หาโดยไม่มีค่าตอบแทน และเมื่อได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินพิพาทจากนางเพิ่มโดยไม่เสียค่าตอบแทนแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมไม่อาจยกมาตรา 1299 วรรคสอง ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองรับโอนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วหรือไม่อีกต่อไป และแม้ว่านางเพิ่มได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วก็ตาม เมื่อจำเลยทั้งสองรับโอนโดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสองได้ว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์แต่โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างนางเพิ่มกับจำเลยทั้งสองได้..”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share