แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลรัษฎากร มาตรา 20 และ 30(2) มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวต่อศาลจะต้องมีเหตุผลอย่างไร และเหตุผลนั้นจะต้องเป็นเหตุผลเช่นเดียวกัน การอุทธรณ์ต่อศาลจึงอาจอ้างเหตุอื่นนอกเหนือหรือเพิ่มเติมจากที่เคยอุทธรณ์ไว้ได้ดังนั้น ที่โจทก์ยกเหตุเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้นำค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าอากรแสตมป์กับดอกเบี้ยเงินกู้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายและมิได้หักค่าลดหย่อนบุตรให้โจทก์ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาล แม้จะมิได้อ้างเหตุดังกล่าวไว้ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ไม่ชอบอันเป็นเรื่องเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงชอบที่จะอ้างเหตุดังกล่าวในชั้นศาลได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสามให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินของจำเลยเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าไว้แล้วว่าไม่ชอบด้วยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้กล่าวอ้างในคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า การคิดคำนวณภาษีของจำเลยได้นำยอดเงินได้และยอดรายรับรวมทั้งการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนมาคิดคำนวณโดยไม่ถูกต้อง ก็เป็นเพียงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่โจทก์มีสิทธิที่จะอ้างเพิ่มเติมในชั้นศาลนอกเหนือจากที่อ้างในคำอุทธรณ์ได้และขอให้พิจารณาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในการคิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ใหม่ เห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 20 และ30(2) มิได้บัญญัติว่า การอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวต่อศาลจะต้องมีเหตุผลอย่างไร และเหตุผลนั้นจะต้องเป็นเหตุผลเช่นเดียวกันการอุทธรณ์ต่อศาลจึงอาจอ้างเหตุอื่นนอกเหนือหรือเพิ่มเติมจากที่เคยอุทธรณ์ไว้ได้ ดังนั้น ที่โจทก์ยกเหตุเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้นำค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าอากรแสตมป์ กับดอกเบี้ยเงินกู้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายและมิได้หักค่าลดหย่อนบุตรให้โจทก์ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาล แม้จะมิได้อ้างเหตุดังกล่าวไว้ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ไม่ชอบอันเป็นเรื่องเดียวกันที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงชอบที่จะอ้างเหตุดังกล่าวในชั้นศาลได้ในส่วนที่เกี่ยวกับการหักค่าลดหย่อนบุตร โจทก์นำสืบว่าโจทก์มีบุตร 6 คน ซึ่งเกิดก่อน พ.ศ. 2522 ในปี พ.ศ. 2523บุตรของโจทก์ทั้ง 6 คน อายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาเล่าเรียนอยู่โดยมีใบสำคัญการสมรสระหว่างโจทก์กับภริยา และสูติบัตรของบุตรทั้ง 6 คน เป็นพยานเอกสารมาแสดง ซึ่งจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ ปรากฏว่า บุตรคนที่ 1 ถึงที่ 6 เกิดวันที่ตามลำดับก่อนหลังดังนี้ คือ3 พฤศจิกายน 2508, 23 มกราคม 2510, 9 มิถุนายน 2515, 20 กันยายน2516, 27 พฤศจิกายน 2517 และ 3 ธันวาคม 2520 ในปี พ.ศ. 2523บุตรโจทก์ทั้ง 6 คน จึงยังเป็นผู้เยาว์อยู่ โจทก์จึงมีสิทธิหักค่าลดหย่อนสำหรับบุตรทั้ง 6 คนของโจทก์ได้คนละ 5,000 บาทตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามคำสั่งแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามแบบแจ้งการประเมินภ.ง.ด. 11 เลขที่ 1038/1/47395 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2529และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ภ.ส.7 เลขที่ 246/2531/1 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2531และให้คิดคำนวณภาษีปี พ.ศ. 2523 ใหม่โดยให้หักค่าลดหย่อนบุตรทั้ง6 คน ของโจทก์คนละ 5,000 บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47ที่ใช้บังคับในขณะนั้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.