คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อประกันส.และว. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ กำหนดไถ่ถอนภายใน 18 เดือนปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาจำนองท้ายฟ้อง พ้นกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์ คำฟ้องดังกล่าวแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วส่วนหนี้ของ ส.และว. เป็นหนี้อะไรนั้นเป็นรายละเอียดซึ่งโจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่ต้องบรรยายมาในฟ้อง โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองมิได้ฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่จำต้องแนบสัญญาเช่าซื้อมาท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้มีบทบัญญัติว่าผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจะต้องชำระบัญชีให้เสร็จภายในกำหนดเวลาใด ดังนั้นตราบใดที่การชำระบัญชียังไม่เสร็จ ผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจตามมาตรา 1259 ซึ่งรวมทั้งอำนาจว่าต่างในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นในอรรถคดีด้วย และระยะเวลาการชำระบัญชีไม่ใช่อายุความ จึงนำบทบัญญัติเรื่องอายุความมาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดราชบุรีจินดาพานิชซึ่งโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยได้ทำสัญญาจำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันนายสุรศักดิ์ รอดเกิดและนายวิบูลย์ บุญญทวีวัฒนะ ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ กำหนดไถ่ถอนภายใน 18 เดือน เมื่อเลยกำหนดแล้วโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง จำเลยได้รับหนังสือแต่ไม่นำเงินมาชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงิน 413,187.50 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 300,500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ขอให้ยึดทรัพย์สินจำนองขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จหากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7352 ตำบลบางขุนกอง(บางราวนกฝั่งใต้) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรีที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นแรกจำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายว่าจำเลยจำนองประกันหนี้นายสุรศักดิ์รอดเกิด และนายวิบูลย์ บุญญทวีวัฒนะ เป็นหนี้ค่าอะไร ตามสัญญาจำนองระบุเป็นประกันหนี้ นายสุรศักดิ์ รอดเกิด และนายวิบูลย์บุญญทวีวัฒนะ ซึ่งเป็นลูกหนี้ของห้างฯ ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 21พฤษภาคม 2512 โจทก์ก็มิได้ส่งสัญญาฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2512ต่อศาล เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อประกันนายสุรศักดิ์ รอดเกิด และนายวิบูลย์ บุญญทวีวัฒนะซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวน 300,500 บาท กำหนดไถ่ถอนภายใน18 เดือน ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาจำนองท้ายฟ้อง พ้นกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ คำฟ้องดังกล่าวแสดงโดยชัดแจ้ง ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนหนี้ของนายสุรศักดิ์ รอดเกิด และนายวิบูลย์ บุญญทวีวัฒนะเป็นหนี้อะไรนั้น เป็นรายละเอียดซึ่งโจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้โดยไม่ต้องบรรยายมาในฟ้อง และโจทก์นำสืบฟังได้ว่าเป็นหนี้เกิดจากเช่าซื้อคือเงินดาวน์ 300,000 บาท กับค่าธรรมเนียมอีก 500 บาทโจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนอง มิได้ฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อทั้งจำเลยก็รับว่าเป็นหนี้เกิดจากสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงไม่จำต้องแนบสัญญาเช่าซื้อมาท้ายฟ้องด้วย ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ประเด็นที่สองจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะนายจิตติ อัคคพงษ์กุล ได้รับหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดราชบุรีจินดาพานิช ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2516จึงต้องชำระบัญชีของห้างดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี เมื่อมิได้ชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายในเวลาดังกล่าว อำนาจของผู้ชำระบัญชีจึงสิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้มีบทบัญญัติว่าผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจะต้องชำระบัญชีให้เสร็จภายในกำหนดเวลาใด ดังนั้นตราบใดที่การชำระบัญชียังไม่เสร็จผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259ซึ่งรวมทั้งอำนาจว่าต่างในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นในอรรถคดีด้วยที่จำเลยอ้างว่า เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติว่าผู้ชำระบัญชีจะต้องชำระบัญชีเสร็จภายในเวลาเท่าใด ก็ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความทั่วไปมาบังคับคือภายใน 10 ปี ตามมาตรา 164 นั้น เห็นว่า อายุความดังกล่าวเป็นอายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับเสียภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ เป็นอันขาดอายุความตามมาตรา 163 แต่ระยะเวลาการชำระบัญชีไม่ใช่อายุความ จึงจะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความมาใช้บังคับไม่ได้”
พิพากษายืน

Share