คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้ แม้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1รับไป จะเป็นเงินของมารดาโจทก์และมารดาโจทก์เป็นผู้มอบเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่ มารดา โจทก์มีเจตนาช่วย ออกเงินกู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นบุตร โจทก์ในฐานะเป็นผู้ให้กู้ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ และฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป 300,000 บาทตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อครบกำหนดชำระเงินจำเลยทั้งสองมิได้ชำระเงินแก่โจทก์ให้ครบถ้วน คงค้างชำระดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน18,000 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 318,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 318,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์และไม่เคยรับเงินกู้จากโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญากู้ท้ายฟ้องเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 295,500 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 โดยมารดาโจทก์เป็นผู้ออกเงินกู้ และมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 รับไป ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้แม้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 รับไปจะเป็นเงินของมารดาโจทก์และมารดาโจทก์เป็นผู้มอบเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปก็เป็นเรื่องที่มารดาโจทก์มีเจตนาช่วยออกเงินกู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นบุตร โจทก์ในฐานะเป็นผู้ให้กู้จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน…”
พิพากษายืน.

Share