คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โดย สุจริตแต่ ป.พ.พ. มาตรา 1330 บัญญัติเพียงว่า สิทธิของผู้ซื้อ ไม่เสียไป แม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย มิได้คุ้มครองถึงกับให้ผู้ซื้อได้สิทธิโดยปลอดจากภาระผูกพันใด ๆ หาก โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย การจำนองย่อมติดไปกับที่ดิน โจทก์ มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินพิพาทได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาและขอบังคับจำนองศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 9สิงหาคม 2528 แล้ว จำเลยผิดสัญญา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4788ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินแปลงพิพาทที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องได้มาจากการขายทอดตลาดของศาล จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและศาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนและออกใบแทนให้แก่ผู้ร้องโดยชอบแล้ว การจำนองที่ดินแปลงพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยมิได้มีการจดทะเบียนตามระเบียบและวิธีการของกรมที่ดินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด ขอให้ศาลปล่อยทรัพย์คืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์ให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทที่โจทก์นำยึด เป็นของจำเลยซึ่งได้นำไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์เป็นเงิน 230,000 บาท เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2526 การจดทะเบียนจำนองดังกล่าวทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ปล่อยที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4788 ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จันจังหวัดเชียงราย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้นโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2528 ปรากฏว่าสารบบของที่ดินพิพาทและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทฉบับสำนักงานที่ดินได้สูญหายไปทั้งหมด ผู้ร้องได้นำรังวัดเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับใหม่แทน ทางฝ่ายโจทก์ให้จำเลยกู้เงินเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2526 จำนวนเงิน 250,000 บาท โดยเมื่อวันที่8 มีนาคม 2526 จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1860 ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จันจังหวัดเชียงราย ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวทั้งปรากฏตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.2 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ว่าเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2526 จำเลยได้จำนองที่ดินพิพาทแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวด้วย จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้และบังคับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ต่อมาจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความอีกโจทก์จึงนำยึดที่ดินพิพาทและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1860 ดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2528 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท ปัญหามีว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 บัญญัติเพียงว่าสิทธิของผู้ซื้อไม่เสียไปแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย มิได้คุ้มครองถึงกับให้ผู้ซื้อได้สิทธิโดยปลอดจากภาระผูกพันใด ๆ ดังนั้น หากโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย การจำนองย่อมติดไปกับที่ดิน โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินพิพาทได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว สำหรับปัญหาว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ในข้อนี้โจทก์มีนายพุ่ม สิทธิสมบัติเป็นพยานเบิกความรับรองว่าขณะที่ตนเองมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอแม่จัน ได้ทำการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทให้โจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2526 ตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และสัญญาจำนองที่ดินฉบับผู้รับจำนอง เอกสารหมาย ร.2แต่เนื่องจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทฉบับสำนักงานที่ดินและสารบบของที่ดินพิพาทที่เก็บรักษาอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอแม่จันได้สูญหายไป พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงยังไม่อาจรับฟังว่า มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยชอบแล้ว ส่วนผู้ร้องนำสืบได้ความว่าเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2526 นั้น ในทะเบียนควบคุมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินอำเภอแม่จัน เอกสารหมาย ร.8ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยแต่อย่างใด คงมีแต่การจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1860 นอกจากนี้ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินของสำนักงานที่ดินอำเภอแม่จัน เอกสารหมายร.7 ก็ไม่ปรากฏว่าในวันที่ 8 มีนาคม 2526 นั้นได้มีการออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย คงมีแต่การจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1860 เช่นเดียวกัน สำหรับสัญญาจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย เอกสารหมาย ร.2 ซึ่งปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินอำเภอแม่จัน คือนางเพ็ญศรีกุลฑลสุระกานต์ กับนางชลทิชา พัวตระกูล ลงชื่อเป็นพยานและมีนางเพ็ญประภา กำบังภัย ลงชื่อเป็นผู้ตรวจสัญญานั้น บุคคลทั้งสามได้มาเบิกความเป็นพยาน ผู้ร้องยืนยันว่าลายมือชื่อที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อของตน ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) ของที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดิน เอกสารหมาย จ.1ผู้ร้องมีนายนิจพงษ์ สว่างพงษ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายมาเบิกความเป็นพยานผู้ร้องว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) ฉบับดังกล่าว เป็นแบบพิมพ์ของทางราชการมีเลขที่ประจำแบบพิมพ์ 546422 และมีข้อความระบุว่าออกให้เจ้าของที่ดินเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2524 แต่ตามทะเบียนคุมการรับจ่ายแบบพิมพ์ของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย เอกสารหมาย ร.6 ปรากฏว่าแบบพิมพ์หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 546401ถึง 546500 นั้น สำนักงานที่ดินอำเภอแม่จันเพิ่งเบิกไปจากสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2525 ซึ่งนายนิจพงษ์ให้ความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เจ้าของที่ดินก่อนวันเบิกแบบพิมพ์ พยานหลักฐานผู้ร้องจึงสอดคล้องต้องกันและมีน้ำหนักอันควรรับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานโจทก์ น่าเชื่อว่า มิได้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่สำนักงานที่ดินอำเภอแม่จันในวันที่8 มีนาคม 2526 การจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการจำนองที่มิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะผู้รับจำนองบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ปล่อยที่ดินพิพาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share