คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4970/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรซึ่งเป็นงานที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของจำเลยคือประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซโดยจำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซมาบตาพุด ให้บริษัท ว. จำเลยส่งโจทก์ไปทำงานในโครงการดังกล่าว โจทก์ไปทำงานที่บริษัท ว. ก็ด้วยคำสั่งของจำเลยและทำงานในโครงการที่จำเลยรับจ้างจากบริษัท ว. นั่นเอง เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลงบริษัท ว. จึงมีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นกรณีที่บริษัท ว. แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลยเมื่อการปฏิบัติงานสิ้นสุดลง ไม่ใช่บริษัท ว. บอกเลิกจ้างโจทก์ แสดงว่า อำนาจในการเลิกจ้างโจทก์ยังคงอยู่ที่จำเลย อีกทั้งจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัท ว. ตามคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ตลอดมา ค่าตอบแทนนั้นเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของโจทก์จึงเป็นค่าจ้าง การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัท ว. เป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนไปให้บริษัท ว. ใช้แทนในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัท ว. โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย แม้จำเลยยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ในฐานะผู้มีรายได้อิสระก็ไม่ทำให้นิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งวิศวกรออกแบบ โดยให้โจทก์ไปทำงานกับบริษัท Worley Parson จำกัด (ที่ถูกคือบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด (Worley Parsons (Thailand) Limited)) ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 70,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 210,000 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจนถึงวันจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือวันที่ 30 กันยายน 2548 เป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 70,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย นอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุด 18,664 บาท ค่าล่วงเวลา 1,748 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา 1,748 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 18,664 บาท และค่าชดเชย 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิใช่นายจ้างโจทก์ โจทก์จำเลยไม่เคยทำสัญญาจ้างค่าแรงงานต่อกัน โจทก์เป็นวิศวกรอิสระรับจ้างจำเลยเป็นวิศวกรที่ปรึกษาในการคำนวณและออกแบบโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซให้แก่บริษัท Worley Parsons จำกัด (ที่ถูกคือบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด (Worley Parsons (Thailand) Limited)) ระหว่างอำเภอมาบตาพุดถึงอำเภอบางปะกงเท่านั้น ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการจ้างซึ่งโจทก์ทราบดีตั้งแต่ต้นแล้ว โจทก์คิดค่าจ้างเหมาเป็นชั่วโมง ไม่มีเงินเดือน โดยคิดจากผลงานในการทำงานให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยแบ่งชำระค่าจ้างทุกสิ้นเดือน ค่าจ้างในแต่ละเดือนจะไม่เท่ากันแล้วแต่ผลงานชั่วโมงทำงานของโจทก์ที่ทำได้โดยบริษัทดังกล่าวจะรายงานมายังจำเลย และมุ่งเน้นถึงผลสำเร็จของงาน โจทก์มีอิสระในการทำงานไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลย ไม่ต้องเข้าบริษัทจำเลยและไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่มีสวัสดิการประกันสังคมเหมือนลูกจ้างทั่วไปในบริษัทจำเลย ค่าจ้างรับบริการก็เป็นการหักภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.3 สำหรับผู้มีวิชาชีพอิสระ จ้างทำของโดยโจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับบริษัทจำเลยและจำเลยไม่เคยให้โจทก์มาทำงานอื่นของจำเลย การรับจ้างทำงานของโจทก์เป็นการจ้างทำของไม่ใช่จ้างแรงงาน ต่อมาก่อนเดือนสิงหาคม 2548 ที่โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซของบริษัทดังกล่าวจะเสร็จสิ้นลง จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2548 โครงการออกแบบดังกล่าวเสร็จสิ้นลงและโจทก์มารับค่าจ้างงวดสุดท้ายไปครบถ้วนแล้วความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจ้างทำของ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและจำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์เพราะเป็นการทำงานอย่างอิสระของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดจำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ โจทก์เป็นวิศวกรได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกร (ไม่ได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ) โดยส่งให้โจทก์ไปทำงานกับบริษัทวาล์เลย์พาร์ซัน จำกัด (Wosley Passons (Thailand) Limited)) (ที่ถูกคือบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด (Wosley Passons (Thailand) Limited)) ในโครงการท่อส่งก๊าซมาบตาพุด จังหวัดระยอง จำเลยรับจ้างบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ในส่วนการออกแบบโดยเป็นวิศวกรที่ปรึกษาในลักษณะการจ้างงานเป็นคราวๆ ไป โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานที่บริษัทของจำเลย เมื่อถึงรอบการจ่ายเงินค่าตอบแทนโจทก์นำหลักฐานระบุชั่วโมงทำงานที่โจทก์ทำงานให้บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด มาคำนวณเงินค่าตอบแทนกับนายธนาเดช กรรมการผู้จัดการของจำเลยแล้วรับเงินค่าตอบแทนจากนายธนาเดชไปตามรอบการจ่ายเงิน การบังคับบัญชาในการทำงานขึ้นอยู่กับบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด วันที่ 31 สิงหาคม 2548 ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด มีหนังสือถึงจำเลยอ้างถึงจดหมายของบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 มีผลให้การปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้จัดหาวิศวกรอิสระเช่นโจทก์ไปทำงานกับบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด เป็นคราวๆ จำเลยได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด เป็นจำนวนเงินมากกว่าที่จำเลยคำนวณจ่ายให้โจทก์ตามที่ตกลงกับโจทก์ แล้วจำเลยได้รับเงินค่าตอบแทนจากส่วนต่างนั้น โจทก์ทำงานโดยอิสระไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยรายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.9 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลย เมื่องานออกแบบที่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด สิ้นสุดลง บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลงตามเอกสารหมาย ล.9 โจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำผิด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรซึ่งเป็นงานที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของจำเลยคือประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซโดยจำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซมาบตาพุด จังหวัดระยอง ให้บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด จำเลยส่งโจทก์ไปทำงานในโครงการดังกล่าวของบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด โจทก์ไปทำงานที่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ก็ด้วยคำสั่งของจำเลยและทำงานในโครงการที่จำเลยรับจ้างจากบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด นั่นเอง เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลงบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด จึงมีหนังสือเอกสารหมาย ล.9 ถึงจำเลยแจ้งว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นกรณีที่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลยเมื่อการปฏิบัติงานสิ้นสุดลง ไม่ใช่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด จำกัด บอกเลิกจ้างโจทก์ แสดงว่า อำนาจในการเลิกจ้างโจทก์ยังคงอยู่ที่จำเลย อีกทั้งจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ตามคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ตลอดมาไม่ว่าจะคำนวณค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นรายเดือนก็ตาม ค่าตอบแทนนั้นเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของโจทก์ จึงเป็นค่าจ้าง การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด นั้นเป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนไปให้บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ใช้แทนจำเลยในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด หาได้ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย แม้จำเลยยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ในฐานะผู้มีรายได้อิสระก็ไม่ทำให้นิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

Share