คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3117/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งได้บุกรุกเข้าไปปลูกอาคารไม้เป็นที่อยู่อาศัยในที่ดินของวัด อันเป็นศาสนสมบัติซึ่งอยู่ในความดูแลของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่บรรยายฟ้องว่าที่พิพาทตรงที่จำเลยบุกรุกแต่ละสำเนานั้น อาจให้เช่าได้เดือนละเท่าใด แต่โจทก์ก็เรียกค่าเสียหายมาในแต่ละสำนวนเดือนละ 1,000บาท เมื่อเทียบกับจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องดังกล่าว พอฟังได้ว่าที่พิพาทแต่ละสำนวนโจทก์อาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท เท่ากับอัตราค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมา จำเลยแต่ละสำเนามิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่จำเลยแต่ละสำนวนออกไปจากที่พิพาทคดีแต่ละสำนวนจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยแต่ละสำนวนเข้าไปปลูกอาคารไม้ในที่พิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบและมิได้ให้คำยินยอม การที่โจทก์ขอบังคับให้จำเลยแต่ละสำนวนอพยพขนย้ายออกไปจากอาคารไม้ที่จำเลยแต่ละสำนวนปลูกอยู่ ในที่พิพาทนั้น ย่อมหมายถึงขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่พิพาทซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารนั้นด้วย ได้ความว่าอาคารไม้พิพาทเป็นของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อไปแล้ว จำเลยก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกไม่ได้ทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยซึ่งอยู่ในที่พิพาท จำเลยจึงต้องเอาออกไปให้พ้นที่พิพาท ฉะนั้น ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทออกไปเสียด้วยจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกฟ้องแต่อย่างใด (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1141-1157/2509 และ 2337/2522)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแต่ละสำนวน รวม 27 สำนวน (ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา24 สำนวน) เข้าไปปลูกอาคารไม้เป็นที่อยู่อาศัยในบริเวณที่ดินของวัดใหม่ (ร้าง)ซึ่งเป็นศาสนสมบัติโดย โจทก์ไม่ทราบและมิได้ให้ความยินยอม ต่อมา พ.ศ. 2518โจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินในบริเวณวัดใหม่รวมทั้งที่ดินที่จำเลยแต่ละสำนวนปลูกอาคารอยู่ด้วยเพื่อหารายได้ ได้แจ้งให้จำเลยทราบและให้ออกจากอาคารไม้ดังกล่าว จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยแต่ละสำนวน ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรมีควรได้จากที่ดินแต่ละสำนวนเดือนละ 1,000 บาทขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยแต่ละสำนวนและบริวารอพยพขนย้ายออกไปจากอาคารพิพาทซึ่งอยุ่ในบริเวณวัดใหม่ และให้จำเลยแต่ละสำนวนชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะอพยพขนย้ายออกไปจากอาคารพิพาท

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้ง 27 สำนวนและบริวาร รื้อถอนอาคารพิพาทในแต่ละสำนวนออกไปจากที่ดินบริเวณวัดใหม่ตามฟ้อง ถ้าจำเลยสำนวนใดไม่ยอมรื้อถอนอาคารของตนออกไป ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเอง โดยจำเลยสำนวนนั้นเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากที่พิพาท

จำเลยใน 26 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยใน 24 สำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีแต่ละสำนวนในเรื่องนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งได้บุกรุกเข้าไปปลูกอาคารไม้เป็นที่อยู่อาศัยในที่ดินของวัดใหม่ (ร้าง) อันเป็นสาธารณสมบัติซึ่งอยู่ในความดูแลของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่บรรยายฟ้องว่าที่พิพาทตรงที่จำเลยบุกรุกอาคารไม้แต่ละสำนวนนั้น อาจให้เช่าได้เดือนละเท่าใด แต่โจทก์ก็เรียกค่าเสียหายมาในแต่ละสำนวนเดือนละ 1,000 บาท เมื่อเทียบกับ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องดังกล่าวแล้วพอฟังได้ว่าที่พิพาทแต่ละสำนวนโจทก์อาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท เท่ากับอัตราค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องจำเลยแต่ละสำนวนมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ขับไล่จำเลยแต่ละสำนวนออกไปจากที่พิพาท คดีแต่ละสำนวนจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248คดีเรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าที่พิพาทเป็นของวัดใหม่อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่จะดูแลรักษาและจัดการ ที่พิพาทไม่ใช่ธรณีสงฆ์ของวัดภูเขาดินดังจำเลยนำสืบ จำเลยฎีกาว่าเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์มีอำนาจสั่งรวมวัดใหม่เข้ากับวัดภูเขาดินได้ ฎีกาของจำเลยดังกล่าวมีผลเท่ากับเป็นการโต้เถียงว่า ที่พิพาทไม่ใช่เป็นของวัดใหม่แต่เป็นของวัดภูเขาดินโดยเจ้าคณะจังหวัดฯ มีอำนาจสั่งรวมวัดใหม่เข้ากับวัดภูเขาดินดังจำเลยนำสืบ อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงนั่นเอง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น ฎีกาข้อนี้เป็นฎีกาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยแต่ละสำนวนเข้าไปปลูกอาคารไม้ในที่พิพาท โดยโจทก์ไม่ทราบและมิได้ให้ความยินยอม การที่โจทก์ขอบังคับให้จำเลยแต่ละสำนวนอพยพขนย้ายออกไปจากอาคารไม้ที่จำเลยแต่ละสำนวนปลูกอยู่ในที่พิพาทนั้น ย่อมหมายถึงขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่พิพาทซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารนั้นด้วย และอาคารไม้พิพาทก็เป็นของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อไปแล้ว จำเลยจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกไม่ได้ ทรัพย์ใด ๆ ของจำเลยซึ่งอยู่ในที่พิพาท จำเลยจึงต้องเอาออกไปให้พ้นที่พิพาทด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร รื้อถอนอาคารพิพาทออกไปจากที่ดินบริเวณวัดใหม่ตามฟ้อง จึงหาเป็นการเกินคำขอหรือนอกฟ้องไม่ ส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาต่อไปว่า ถ้าจำเลยสำนวนใดไม่ยอมรื้อถอนอาคารของตนออกไปให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองโดยจำเลยสำนวนนั้น ๆ เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็อยู่ในวิธีการบังคับคดีเพื่อให้จำเลยรื้อถอนอาคารของตนออกไปจากที่พิพาทนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213

พิพากษายืน

Share