คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8228/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันระบุไว้ว่า ตามที่บริษัท ย. มีความประสงค์จะทำสัญญาเบิกเงินล่วงหน้าค่าแรงโครงการแมกไม้ซึ่งในการนี้บริษัท ย. จะต้องมีหนังสือรับรองของธนาคารค้ำประกันเป็นจำนวนเงิน 4,400,000 บาท โดยหนังสือฉบับนี้จำเลยที่ 1 ขอรับเป็นผู้ค้ำประกันบริษัท ย. ต่อโจทก์สำหรับการทำสัญญาเบิกเงินล่วงหน้าค่าแรงโครงการแมกไม้คราวนี้ไว้ภายในวงเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 4,400,000 บาทจากข้อความในหนังสือค้ำประกันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันแสดงเจตนายินยอมที่จะเป็นผู้ค้ำประกันเงินค่าแรงจ่ายล่วงหน้าจำนวน 4,400,000 บาท ตามข้อกำหนดในสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. ตามสัญญาจ้างก่อสร้างสาธารณูปโภคโดยที่ตามสัญญาดังกล่าวโจทก์ได้จ่ายเงินค่าแรงล่วงหน้าจำนวน4,400,000 บาท ให้แก่บริษัท ย. ไปแล้ว ที่หนังสือค้ำประกันระบุไว้ตามสัญญาข้อ 3 ว่าหนังสือค้ำประกันฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่16 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป และสิ้นสุดวันที่ 15 ตุลาคม 2535หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1 ไม่รับผิดชอบใด ๆทั้งสิ้น หมายความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันมีเจตนาจะให้หนังสือค้ำประกันมีผลผูกพันและใช้บังคับกันได้ตั้งแต่วันที่16 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป กล่าวคือ หากเกิดกรณีที่บริษัท ย. จะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินจำนวน 4,400,000 บาทที่ได้รับไปแล้วคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชดใช้ในจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามหนังสือค้ำประกันฉบับนี้นับแต่วันดังกล่าว กรณีมิใช่ว่าการรับเงินจำนวน 4,400,000 บาทของบริษัท ย. จากโจทก์จะต้องกระทำขึ้นภายในระยะเวลาดังกล่าวด้วยไม่ แต่ขณะเดียวกันหากเหตุแห่งการที่บริษัท ย.จะต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1 ผู้ออกหนังสือค้ำประกันก็หาจำต้องรับผิดชอบตามหนังสือค้ำประกันด้วยไม่ หนังสือค้ำประกันฉบับพิพาท จำเลยที่ 1 ได้ทำขึ้นเพื่อค้ำประกันเงิน 4,400,000 บาท ที่โจทก์จ่ายค่าแรงล่วงหน้าให้ไว้แก่บริษัท ย.และเมื่อบริษัทย. มิได้กระทำการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่บริษัท ย. โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ให้การโต้แย้งคำฟ้องโจทก์ไว้โดยแจ้งชัดว่า บริษัท ย. มิได้กระทำผิดสัญญาอย่างไร จำเลยที่ 1 ให้การเพียงว่า บริษัท ย. แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่ามิได้กระทำผิดสัญญาเท่านั้น ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ไว้จึงต้องฟังตามข้อนำสืบของโจทก์ว่า บริษัท ย. เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับบริษัท ย.ขณะที่อยู่ในระยะเวลาตามหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 1ได้กำหนดระยะเวลารับผิดชอบไว้ จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชอบชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าแรงหรือค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่บริษัท ย. ไปจากจำเลยผู้ค้ำประกันของบริษัท ย. ไปตามสัญญาที่โจทก์จำเลยทำไว้ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน5,153,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน4,400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 8,518,469 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 7,899,224 บาทนับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2534 และจากต้นเงิน 619,245 บาท นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานอนุญาโตตุลาการเป็นเงิน173,253.50 บาท ด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ตามสัญญาค้ำประกันนั้นเงินค่าแรงล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 ค้ำประกันต่อโจทก์ คือเงินที่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด เบิกไปจากโจทก์นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2534 คือวันทำสัญญาเป็นต้นไปเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งหลังจากวันทำสัญญาโจทก์ไม่ได้จ่ายเงินให้บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัดอีก และบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ไม่ได้ผิดสัญญา หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด มีอยู่ก่อนทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาที่ให้บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ชำระค่าแรงล่วงหน้าคืนโจทก์นั้นเหตุแห่งการชำระค่าแรงคืน และเหตุแห่งการผิดสัญญาเกิดก่อนการทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเช่นกันโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าแรงล่วงหน้าจากบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2534 และตามสัญญาค้ำประกันมีอายุสิ้นสุดในวันที่ 15 ตุลาคม 2535 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2537 จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิด เพราะสัญญาค้ำประกันทำขึ้นภายหลังจากโจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทยูณีก้าร์บิ้วท์ จำกัด ไปแล้ว หลังจากทำสัญญาค้ำประกันแล้วโจทก์ไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัดอีก ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าแรงงานให้แก่พนักงานของบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ไปนั้น เป็นเงินคนละส่วนกับเงินตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิด ค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการก็อยู่นอกเหนือความรับผิดของจำเลยที่ 5ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 5 ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เข้าดำเนินคดีแทน ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 8,518,469 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 7,899,224 บาท นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2534และในต้นเงิน 619,245 บาท นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันชดใช้ค่าป่วยการพยาน ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่โจทก์ชำระให้แก่สำนักงานอนุญาโตตุลาการไปแล้วจำนวน 173,253.50 บาท ให้โจทก์ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ก่อสร้างสาธารณูปโภคในหมู่บ้านโครงการบ้านแมกไม้เป็นเงิน 21,240,000 บาท ตามสัญญาก่อสร้างสาธารณูปโภคเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ได้ชำระเงินค่าแรงล่วงหน้าให้แก่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 จำนวน 4,400,000 บาท และวันที่21 ธันวาคม 2533 โจทก์ได้จ้างบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัดสร้างบ้านจำนวน 60 หลัง ชื่อหมู่บ้านโครงการบ้านแมกไม้ในวงเงิน22,020,000 บาท ตามสัญญาก่อสร้างบ้านเอกสารหมาย จ.5 เมื่อวันที่16 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10วันที่ 25 ตุลาคม 2534 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาก่อสร้างสาธารณูปโภคเอกสารหมาย จ.4 ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.12
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 ได้ระบุไว้ว่า ตามที่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด มีความประสงค์จะทำสัญญาเบิกเงินล่วงหน้าค่าแรงโครงการแมกไม้ ซึ่งในการนี้บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์จำกัด จะต้องมีหนังสือรับรองของธนาคารค้ำประกันเป็นจำนวนเงิน4,400,000 บาท โดยหนังสือฉบับนี้ธนาคารทหารไทย จำกัด(จำเลยที่ 1) ขอรับเป็นผู้ค้ำประกันบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ต่อบริษัท ไทยมอริโมโต้ จำกัด (โจทก์) สำหรับการทำสัญญาเบิกเงินล่วงหน้าค่าแรงโครงการแมกไม้คราวนี้ไว้ภายในวงเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 4,400,000 บาท จากข้อความในหนังสือค้ำประกันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันแสดงเจตนายินยอมที่จะเป็นผู้ค้ำประกันเงินค่าแรงจ่ายล่วงหน้าจำนวน 4,400,000 บาทตามข้อกำหนดในสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัดตามสัญญาจ้างก่อสร้างสาธารณูปโภค ข้อที่ 28 ข้อย่อยที่ 2(1)โดยที่ตามสัญญาดังกล่าวโจทก์ได้จ่ายเงินค่าแรงล่วงหน้าจำนวน4,400,000 บาท ให้แก่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ไปแล้วที่หนังสือค้ำประกันระบุไว้ตามสัญญาข้อ 3 ว่า หนังสือค้ำประกันฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไปและสิ้นสุดวันที่ 15 ตุลาคม 2535 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนี้ธนาคารทหารไทย จำกัด (จำเลยที่ 1) ไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นนั้น หมายความว่า จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันมีเจตนาจะให้หนังสือค้ำประกันมีผลผูกพันและใช้บังคับกันได้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม2534 เป็นต้นไป กล่าวคือ หากเกิดกรณีที่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด จะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินจำนวน 4,400,000 บาท ที่ได้รับไปแล้วคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชดใช้ในจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามหนังสือค้ำประกันฉบับนี้นับแต่วันดังกล่าวกรณีมิใช่ว่าการรับเงินจำนวน 4,400,000 บาท ของบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด จากโจทก์จะต้องกระทำขึ้นภายในระยะเวลาดังกล่าวด้วยไม่ แต่ขณะเดียวกันหากเหตุแห่งการที่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด จะต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1ผู้ออกหนังสือค้ำประกันก็หาจำต้องรับผิดชอบตามหนังสือค้ำประกันด้วยไม่ สำหรับคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อนายเกรียงไกรรักษ์กุลชน ซึ่งเป็นทนายความของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.15แล้วว่า ได้แจ้งให้บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ชดใช้เงินจำนวน 4,400,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว แต่ทาง บริษัทยูนิก้าร์ บิ้วท์ จำกัด แจ้งมาว่า บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด มิได้ผิดสัญญาจึงต้องชะลอการชำระเงินไว้ก่อน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า หนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.10 ของจำเลยที่ 1 ได้ทำขึ้นเพื่อค้ำประกันเงิน4,400,000 บาท ที่โจทก์จ่ายค่าแรงล่วงหน้าให้ไว้แก่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด และเมื่อโจทก์ได้นำสืบว่าบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด มิได้กระทำการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.12 โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ให้การโต้แย้งคำฟ้องโจทก์ไว้โดยแจ้งชัดว่าบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด มิได้กระทำผิดสัญญาอย่างไรเพียงแต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัดแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่ามิได้กระทำผิดสัญญาเท่านั้น ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยที่ 1 เองก็มิได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ไว้จึงต้องฟังตามข้อนำสืบของโจทก์ว่า บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัดเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ขณะที่อยู่ในระยะเวลาตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 ที่จำเลยที่ 1 ได้กำหนดระยะเวลารับผิดชอบไว้ จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชอบชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
ส่วนจะต้องรับผิดชอบเพียงใดนั้น เห็นว่าตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 กำหนดจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเฉพาะเงินค่าแรงที่จ่ายล่วงหน้าไว้เพียงจำนวน4,400,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินจำนวน 619,245 บาท ที่โจทก์เรียกร้องมา มิใช่เป็นเงินค่าแรงที่จ่ายล่วงหน้าแต่เป็นเงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่คนงานไปโดยตรงอันเป็นเงินที่เกินหรือนอกเหนือจากจำนวนเงินที่ได้กำหนดให้ต้องรับผิดชอบไว้ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ เมื่อบริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์และโจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2534จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระเงิน 4,400,000 บาท ที่ได้ค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 จึงให้ตามที่ขอ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับอายุความนั้น เห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวมิใช่เป็นเรื่องเงินทดรองจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีของคดีเรื่องนี้เป็นการเรียกเงินจากผู้ค้ำประกันที่โจทก์ได้จ่ายค่าแรงหรือค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่บริษัทยูณีก้าร์ บิ้วท์ จำกัด ไปซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม2537 ยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน4,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share