แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยมีมูลหนี้ที่จะต้องชำระค่าแชร์แก่โจทก์ และโจทก์จำเลยตกลงเปลี่ยนจากมูลหนี้ค่าแชร์มาเป็นหนี้เงินกู้ จึงเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้ค่าแชร์จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นการส่งมอบเงินกู้แล้วด้วยการแปลงหนี้ใหม่ทำให้สัญญากู้ยืมเงินชอบด้วยกฎหมาย มีผลบังคับโดยสมบูรณ์ โจทก์จำเลยจึงมีความผูกพันต่อกันในลักษณะหนี้กู้ยืม การที่จำเลยให้การและนำสืบว่าโจทก์ ได้หักเงินค่าแชร์ของจำเลยชำระหนี้แทนหนี้เงินกู้ของจำเลยแล้ว เป็นการอ้างว่าจำเลยได้ชำระหนี้อย่างอื่นโดยการ หักกลบลบหนี้แทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระเงินกู้ ๑๒๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี คืนแก่โจทก์ภายใน วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน ๑๔๘,๕๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑๔๘,๕๖๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า มูลหนี้ตามฟ้องมาจากการเล่นแชร์จำเลยที่ ๑ ประมูลแชร์ได้แล้วไม่ส่งต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรวม ๑๒๘,๕๐๐ บาท คืนแก่โจทก์ จึงต้องยอมลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงินที่ยังมิได้กรอกข้อความให้แก่โจทก์โดยไม่ได้รับเงินจำนวนนั้น จำเลยที่ ๒ ก็ต้องลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันที่ยังมิได้กรอกข้อความเช่นกัน แต่ต่อมาจำเลยที่ ๒ ถูกบังคับชำระหนี้แทนจำเลยที่ ๑ แล้ว โดยโจทก์หักต้นเงินแชร์วงใหม่ ที่จำเลยที่ ๒ ส่งให้โจทก์ ไปแล้ว ๖ งวด เป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ไว้เอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๔๘,๕๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑๒๘,๕๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำขออื่น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ค่าแชร์แก่โจทก์ ๑๒๘,๕๐๐ บาท จึงยอมทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย ป.จ. ๑ ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ยอมทำสัญญาค้ำประกันชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ป.จ. ๒
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า สัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย ป.จ. ๑ ไม่บริบูรณ์เพราะมิได้มีการส่งมอบเงินกู้หรือไม่ และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ป.จ. ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ได้ความว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ เล่นแชร์กันโดยโจทก์เป็นนายวงแชร์เมื่อจำเลยที่ ๑ ประมูลแชร์ได้รับเงินไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ส่งค่าแชร์และดอกเบี้ยแก่โจทก์ผู้เป็นนายวงแชร์ ทำให้โจทก์ต้องชำระค่าแชร์ให้ผู้ประมูลได้แทนจำเลยที่ ๑ คิดเป็นเงินจำนวน ๑๒๘,๕๐๐ บาท โจทก์จึงระบุยอดเงินจำนวนดังกล่าวในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ป.จ. ๑ ให้จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน แล้วโจทก์ให้จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อค้ำประกันหนี้จำนวนดังกล่าวตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ป.จ. ๒ แสดงว่า จำเลยที่ ๑ มีมูลหนี้ที่จะต้องชำระค่าแชร์จำนวน ๑๒๘,๕๐๐ บาท แก่โจทก์จริง เมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๑ ตกลงเปลี่ยนจากมูลหนี้ค่าแชร์มาเป็นหนี้เงินกู้ จึงเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จากหนี้ค่าแชร์เป็นหนี้เงินกู้ ดังนั้นหนี้ค่าแชร์จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๙ วรรคหนึ่ง ทำให้สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ป.จ. ๑ ชอบด้วยกฎหมายมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แม้ว่าในวันทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จะมิได้ส่งมอบเงินให้แก่จำเลยที่ ๑ ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเงินค่าแชร์ ที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นการส่งมอบเงินกู้แล้วด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย ป.จ. ๑ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย ป.จ. ๑ และจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ป.จ. ๒ ต่อโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อมาว่า จำเลยที่ ๒ ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ป.จ. ๑ ให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ ๑ แล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ แปลงหนี้ใหม่จากมูลหนี้ค่าแชร์เป็นหนี้เงินกู้ตามเอกสารหมาย ป.จ. ๑ แล้ว โจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงมีความผูกพันต่อกันในลักษณะหนี้กู้ยืมก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองให้การและนำสืบว่าโจทก์ได้หักเงินค่าแชร์ของจำเลยที่ ๒ ชำระหนี้ แทนหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ ๑ แล้วนั้นเป็นการอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้อย่างอื่นโดยการหักกลบลบหนี้แทน การชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วมาแสดงซึ่งต้องห้ามมิให้นำสืบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค ๒ เห็นว่า ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการนำสืบการใช้เงิน มาแสดงจึงมิให้จำเลยทั้งสองนำพยานบุคคลเข้าสืบว่าได้ใช้เงินแก่โจทก์แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการนำสืบการใช้เงินของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นข้างต้นโดยไม่ต้องย้อนสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบมาตรา ๒๔๗ และศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้หักเงินค่าแชร์ของจำเลยที่ ๒ ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมแทนจำเลยที่ ๑ แล้ว พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมตามเอกสารหมาย ป.จ. ๑ ต่อโจทก์
พิพากษายืน.