คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 889/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ยึดเพียง 1 ใน 5แต่ยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดอ้างว่าไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามมูลค่าแห่งตัวทรัพย์ทั้งหมด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามชำระเพียงบางส่วนและไม่ชำระหนี้ส่วนที่เหลือโจทก์จึงขอให้บังคับคดีและยึดที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหนองละลอกอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง รวม 10 แปลง โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่ยึดรวม 10 แปลง ดังกล่าวไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 หากแต่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างผู้ร้องกับพวกรวม 5 คน ซึ่งมีคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กันโดยผู้ร้องกับพวกตกลงมอบให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนซื้อที่ดินดังกล่าวและจดทะเบียนโดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โดยผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 49,380 บาทศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าทรัพย์ที่ยึดมีทุนทรัพย์ 9,875,900 บาท จะต้องเสียค่าขึ้นศาล 200,000 บาท ให้ผู้ร้องเสียให้ครบใน 15 วันก่อนครบกำหนดผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเดิมและรับคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง ต่อมาผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ยึดทั้ง 10 รายการ เพียง 1 ใน 5ซึ่งคิดเป็นเงิน 1,975,180 บาท จึงต้องชำระค่าขึ้นศาลเพียง1 ใน 5 เป็นเงินจำนวน 49,380 บาท นั้น เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ยึดเพียง 1 ใน 5 ก็ตามแต่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมด ผู้ร้องจึงต้องชำระค่าขึ้นศาลตามมูลค่าแห่งตัวทรัพย์ทั้งหมด คือตามจำนวนทุนทรัพย์ 9,875,900 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและพิพากษาให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลในอัตราอย่างสูงจำนวน 200,000 บาทชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share