แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินของโจทก์อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 ซึ่งหลังจากที่ พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าวพ้นกำหนดอายุใช้บังคับแล้วได้มีการออก พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางโคล่ – แจ้งวัฒนะ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2535 เท่ากับว่ามีการใช้บังคับ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวโดยมิได้มีการออก พ.ร.ฎ. ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นกรณีตามมาตรา 23 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการใช้บังคับ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 โดยมิได้มีการออก พ.ร.ฎ. ตามมาตรา 6 และ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นมิได้กำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งกำหนดเงินค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 โดยอนุโลม จึงต้องนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาใช้โดยอนุโลม คือต้องกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงราคากับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 21 (1) ถึง (5) ในวันที่ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 15,369,453.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 14,842,507.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ 2,090,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่ม แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ขณะที่ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด
พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับในวันที่ 16 เมษายน 2535 นั้น พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด
พ.ศ. 2530 ซึ่งครบกำหนดอายุใช้บังคับในวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ได้สิ้นผลบังคับไปแล้ว ซึ่งเท่ากับว่ามีการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าวโดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เข้ากรณีตามมาตรา 23 ซึ่งบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรสองสรุปรวมกันได้ว่าในกรณีที่มีการใช้บังคับ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 โดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นมิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งกำหนดเงินค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 โดยอนุโลม ปรากฏว่า พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่
พ.ศ. 2535 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นจึงต้องนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 มาใช้โดยอนุโลม
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.