คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลโดยรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตแล้ว ต่อมาจำเลยกลับก่อสร้างชั้นวางของทำด้วยแผ่นเหล็กขึ้นใหม่ตามแนวรั้วกำแพงคอนกรีตตลอดทั้งแนวและไม่ยอมรื้อถอนชั้นวางของดังกล่าวตามคำบังคับ ศาลจึงบังคับให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของออกไปจากที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยโอนตึกและที่ดินให้แก่ ส. ไปแล้ว แต่จำเลยยังเป็นผู้จัดการดูแลครอบครองตึกจึงถือไม่ได้ว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือ ส. ผู้ซื้อตึกและที่ดินยังจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับให้รื้อถอนขนย้ายชั้นวางของที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เช่นกัน โดยโจทก์ไม่ต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ คำบังคับของศาลชั้นต้นที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 และมาตรา 35
ฎีกาของจำเลยที่ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ให้จำเลยปฏิบัติตามไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ส่งสำนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มิใช่ข้อโต้แย้งกล่าวอ้างว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่จำต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264
คำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาให้รื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตเป็นการให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏอยู่ในขณะยื่นฟ้อง สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ขณะฟ้องหรือเกิดขึ้นในอนาคตในระหว่างคดีจากการกระทำของจำเลยหรือที่จำเลยยินยอมให้กระทำขึ้น ย่อมต้องถูกบังคับให้รื้อถอนและขนย้ายด้วยเช่นกัน การที่จำเลยก่อสร้างชั้นวางของขึ้นใหม่หลังจากรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตแล้ว จึงถือว่ายังมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับให้ครบถ้วน จำเลยยังคงต้องชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาทที่มีอยู่ต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังไม่รื้อถอนชั้นวางของออกไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากคดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และเรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 4 เรียกจำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลยต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีต เว้นแต่กันสาดคอนกรีตเสริมเหล็ก เครื่องปรับอากาศ และกล่องประตูเหล็กม้วนที่สร้างอยู่เดิมออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เดือนละ 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2530 จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตที่พิพาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 ในชั้นบังคับคดีจำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตออกไป แต่กลับก่อสร้างชั้นวางของซึ่งทำด้วยแผ่นเหล็กสูงประมาณ 1.47 เมตร ขึ้นใหม่ตลอดแนวฐานรั้วกำแพงคอนกรีตเดิมและไม่รื้อถอนหลังคากันสาดอะลูมิเนียมที่จำเลยสร้างคลุมบริเวณรั้วกำแพงคอนกรีตออกไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของซึ่งทำด้วยแผ่นเหล็กหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ศาลชั้นต้นจึงออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 ให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของซึ่งทำด้วยแผ่นเหล็กหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เดือนละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 9พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3

จำเลยยื่นคำร้องว่า ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในชั้นบังคับคดีที่บังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น จำเลยได้โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้นายแสงโรจน์ วนิชเวทย์พิบูล ผู้ซื้อไปแล้ว จำเลยจึงไม่ใช่เจ้าของสิ่งปลูกสร้างอีกต่อไป หากจำเลยยังต้องดำเนินการขนย้ายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามคำบังคับของศาลแล้ว จะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิผู้อื่นทั้งในทางแพ่งและทางอาญาเป็นการขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติตามคำบังคับของศาลได้ สำหรับค่าเสียหายจำเลยได้ชดใช้ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วในชั้นที่จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และคำพิพากษาศาลฎีกาไม่ได้บังคับให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อไปแม้จะยังไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำขึ้นใหม่ การที่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม2539 จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27, 28และ 264 ขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2541 ว่า การบังคับคดีตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่เหตุตามมาตรา 6 และ 264ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้ยกคำร้องในส่วนนี้ จำเลยทำสิ่งปลูกสร้างด้วยเหล็กขึ้นใหม่แทนสิ่งปลูกสร้างคอนกรีตเดิมซึ่งรื้อถอนไปแล้วโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและสร้างความเดือดร้อนแก่โจทก์ ความเสียหายจึงยังคงมีอยู่แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงค่าเสียหายตามคำบังคับเพราะเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษา และจำเลยอ้างว่าได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ผู้อื่นแล้ว จึงให้ไต่สวนคำร้องในส่วนนี้

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้รับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือนายแสงโรจน์ วินิชเวทย์พิบูล ซึ่งเป็นน้องจำเลย และจำเลยกับนายแสงโรจน์ยังคงครอบครองใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่โดยสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยจะอ้างเหตุอื่นเพื่อไม่ต้องรื้อถอนตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหาได้ไม่ และเมื่อจำเลยยังไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจึงยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาทตามคำพิพากษาต่อไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เสร็จสิ้น ขอให้ออกหมายบังคับคดีต่อไป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ออกคำบังคับตามคำพิพากษาโดยให้เพิกถอนการออกคำบังคับของศาลชั้นต้นตามสำเนาคำบังคับเก็บอยู่ในสำนวนสารบัญอันดับที่ 220 และให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีต เว้นแต่กันสาดคอนกรีตเสริมเหล็กเครื่องปรับอากาศ และกล่องประตูเหล็กม้วนออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 จำเลยได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลโดยรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตและได้ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามฟ้องแล้ว ต่อมาจำเลยกลับก่อสร้างชั้นวางของทำด้วยแผ่นเหล็กขึ้นใหม่ตามแนวรั้วกำแพงคอนกรีตตลอดทั้งแนวและขัดขืนไม่ยอมรื้อถอนชั้นวางของดังกล่าวตามคำบังคับของศาลชั้นต้นโดยอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดว่าการที่จำเลยก่อสร้างชั้นวางของดังกล่าวจำเลยมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงบังคับให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420-421/2541 ซึ่งปรากฏว่าก่อนที่จำเลยจะฟังคำพิพากษาศาลฎีกาจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยให้แก่นายแสงโรจน์วนิชเวทย์พิบูล น้องจำเลย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2539จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกพิพาทให้แก่นายแสงโรจน์ วนิชเวทย์พิบูล ไปแล้วนั้น คำบังคับของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยรื้อถอนชั้นวางของออกไปจากที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นนั้นชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า หลังจากจำเลยโอนตึกและที่ดินให้แก่นายแสงโรจน์ไปแล้ว ตึกพิพาทยังใช้เป็นสำนักงานของบริษัทเกร็ทวอลทัวร์จำกัด ที่มีจำเลยกับนายแสงโรจน์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ทั้งจำเลยยังพักอาศัยอยู่ในตึกพิพาทแม้บริษัทเกร็ทวอลทัวร์ จำกัด จะเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากนายแสงโรจน์แต่จำเลยก็ยังเป็นผู้จัดการดูแลครอบครองตึก จึงถือไม่ได้ว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือนายแสงโรจน์ผู้ซื้อตึกและที่ดินยังจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับให้รื้อถอนขนย้ายชั้นวางของที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เช่นเดียวกัน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ คำบังคับของศาลชั้นต้นที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายจึงหาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 และมาตรา 35 ดังที่จำเลยอ้างไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยต้องปฏิบัติตามคำบังคับของศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ให้จำเลยปฏิบัติตาม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ส่งสำนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นมิใช่ข้อโต้แย้งกล่าวอ้างว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่จำต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ประการใดฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2539ในกรณีที่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนชั้นวางของออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ต่อไปได้อีกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420-421/2541เป็นการวินิจฉัยในประเด็นโต้เถียงในชั้นบังคับคดีว่าจำเลยจะต้องรื้อถอนชั้นวางของที่ก่อสร้างขึ้นใหม่หลังจากรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตออกไปแล้วหรือไม่ ส่วนค่าเสียหายอันเนื่องมาจากมูลละเมิดที่จำเลยก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3183-3184/2538 ว่าให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เดือนละ 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2530 จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วเสร็จ คำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาให้รื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตจึงเป็นการให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏอยู่ในขณะยื่นฟ้อง สิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆที่มีอยู่ขณะฟ้องหรือเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างคดีจากการกระทำของจำเลยหรือที่จำเลยยินยอมให้กระทำขึ้น ย่อมต้องถูกบังคับให้รื้อถอนและขนย้ายตามคำพิพากษาในคดีนี้ด้วยเช่นกันหากจำกัดให้รื้อถอนเฉพาะกำแพงรั้วคอนกรีตประการเดียวไม่มีผลถึงการก่อสร้างที่เกิดขึ้นในอนาคตต่อเนื่องมาและเกิดขึ้นระหว่างคดีดังเช่นที่จำเลยก่อสร้างชั้นวางของขึ้นใหม่ด้วยแล้ว จำเลยย่อมหาเหตุหลีกเลี่ยงโดยก่อสร้างสิ่งอื่นใดขึ้นใหม่เพื่อจะดื้อแพ่งไม่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาจนเกิดเป็นปัญหาขึ้นไม่มีที่สิ้นสุดดังกรณีของจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยก่อสร้างชั้นวางของขึ้นใหม่หลังจากรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตแล้วถือว่าจำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับให้ครบถ้วน จำเลยยังคงต้องชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท ที่มีอยู่ต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังไม่รื้อถอนชั้นวางของออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420-421/2541มิได้กำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นจะต้องออกคำบังคับให้ตรงตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 และ 272 และจำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 อีกเดือนละ 2,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยปฏิบัติตามคำบังคับของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เดือนละ 2,000 บาทตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามสำเนาคำบังคับ (เก็บอยู่ในสำนวนสารบัญอันดับที่ 220) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share