คำวินิจฉัยที่ 53/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่กองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดคืนเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่ได้รับเกินสิทธิไปพร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่กรมบัญชีกลางตรวจสอบข้อมูลในระบบจ่ายตรงบำเหน็จบำนาญแล้ว พบว่า จำเลยกลับเข้ารับราชการเป็นพนักงานเทศบาล เป็นเหตุให้ต้องงดเบี้ยหวัด และกรมบัญชีกลางได้งดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย โดยข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๘(๓) ให้งดเบี้ยหวัดในกรณีที่ทหารผู้นั้นเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว โจทก์มีเพียงหนังสือเรียกให้จำเลยไปทำหนังสือรับสภาพหนี้กรณีได้รับเงินเกินสิทธิ และส่งเงินคืนคลัง การออกหนังสือของโจทก์มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันจะถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ฐานอันเป็นที่มาของข้อพิพาทดังกล่าว จึงไม่ใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งคำฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการสังกัดโจทก์ ในฐานะที่เป็นเอกชน ไม่ใช่กรณีหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ อันก่อให้เกิดความรับผิดอย่างอื่นต่อเอกชนตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อพิพาทคดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาททางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเสียแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งได้รับเงินไปโดยไม่มีสิทธิหรือเกินสิทธิ อันเป็นการรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันมีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั่วไป

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๓/๒๕๕๘

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแขวงอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ กองทัพบก โจทก์ ยื่นฟ้องสิบเอกหรือนายธนศักดิ์ ลีลา จำเลย ต่อศาลแขวงอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๘๒/๒๕๕๗ ความว่า เดิมจำเลยรับราชการสังกัดโจทก์ จำเลยได้ลาออกจากราชการและยื่นความประสงค์ขอรับเบี้ยหวัดและขอรับเงินทางจังหวัดอุบลราชธานี กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเบี้ยหวัดให้จำเลยเดือนละ ๒,๖๖๔ บาท ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ถึง ๓๐ เมษายน ๒๕๕๙ นับเวลาราชการสำหรับคำนวณเบี้ยหวัด ๗ ปี ต่อมากรมบัญชีกลางตรวจสอบข้อมูลในระบบจ่ายตรงบำเหน็จบำนาญพบว่า จำเลยกลับเข้ารับราชการเป็นพนักงานเทศบาลตำบลตาลสุม ตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ ระดับ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ ซึ่งการกลับเข้ารับราชการของจำเลยนั้น ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๘ (๓) ระบุว่า ทหารซึ่งได้รับเบี้ยหวัดอยู่แล้วให้งดเบี้ยหวัดในกรณีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ และไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๕ นับแต่วันที่กลับเข้ารับราชการ อันเป็นการรับเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. เกินสิทธิโดยไม่มีสิทธิ กรมบัญชีกลางจึงงดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ หน่วยงานต้นสังกัดจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้และผ่อนชำระ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๒๗๙,๗๗๓.๔๑ บาท คืนแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๕๐,๕๑๐.๐๖ บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์โดยสุจริต เพราะโจทก์ตรวจสอบสิทธิของจำเลยก่อนการจ่ายเงินให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ตรวจสอบสิทธิอีกครั้งกลับพบว่าจำเลยไม่มีสิทธิรับเงิน โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่จำเลย และจำเลยก็ไม่มีสิทธิได้รับ และเงินที่จำเลยรับมาไม่มีเหลือแล้ว จำเลยจึงไม่จำต้องคืน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์เป็นหน่วยงานราชการฟ้องอดีตข้าราชการที่อยู่ในสังกัดของตนเอง แต่ก็เนื่องมาจากจำเลยได้รับเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. เกินสิทธิโดยไม่มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือผ่อนชำระหนี้ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่เป็นการเรียกเงินจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิได้รับคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มูลเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเกิดขึ้นสืบเนื่องจากโจทก์อนุมัติสั่งจ่ายเบี้ยหวัดแก่จำเลยตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ประกอบกับระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการขอรับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ และการเบิกจ่ายเงิน พ.ศ. ๒๕๔๑ และกรมบัญชีกลางอนุมัติสั่งจ่าย ช.ค.บ. แก่จำเลยตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ต่อมาเมื่อกรมบัญชีกลางตรวจพบว่าคำสั่งอนุมัติสั่งจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. กรมบัญชีกลางจึงมีคำสั่งงดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่จำเลยได้รับ โดยที่การอนุมัติเบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดเป็นอำนาจของโจทก์ ตามข้อ ๔ ของระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการขอรับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และการเบิก พ.ศ. ๒๕๔๑ ส่วนการอนุมัติเบิกจ่าย ช.ค.บ. เป็นอำนาจของกรมบัญชีกลางตามมาตรา ๖ แห่ง พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ประกอบกับมาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๓๕ การอนุมัติเบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่นตามนัยมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อกรมบัญชีกลางกล่าวอ้างว่าการจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลการจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. เกินสิทธิ และคำสั่งงดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลย คืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. โดยทำสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินที่จำเลยรับไปเกินสิทธิเพื่อส่งคืนคลัง จึงเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจอนุมัติเบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ตามกฎหมายข้างต้นได้ทำการพิจารณาเรื่องทางปกครองเรื่องเดียวกันนั้นอีกครั้งหนึ่ง และมีการพิจารณาตัดสินใจในเนื้อหาของเรื่องนั้นแตกต่างจากเดิม โดยระงับการจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย และเพิกถอนคำสั่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ค.ช.บ. ให้แก่จำเลยที่ได้กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ ตามนัยมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หนังสือของกรมบัญชีกลางและหนังสือของโจทก์จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งผลในทางกฎหมายเมื่อมีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ โดยให้มีผลย้อนหลังนั้น ผู้รับคำสั่งทางปกครองต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่ได้รับไปตามหลักลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถ้าผู้รับคำสั่งทางปกครองไม่อาจอ้างความเชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครอง ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์เต็มจำนวน ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้การฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิจะต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามนัยมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็มิได้ทำให้การดำเนินการของโจทก์เป็นการใช้สิทธิทางแพ่งในฐานะเอกชนฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ การเรียกให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิในคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่จำเลยรับไปเกินสิทธิ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นปัญหาหลักที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งงดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับ และเพิกถอนคำสั่งอนุมัติจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดในการคืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือ จากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดคืนเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่ได้รับเกินสิทธิไปพร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่กรมบัญชีกลางตรวจสอบข้อมูลในระบบจ่ายตรงบำเหน็จบำนาญแล้วพบว่า จำเลยกลับเข้ารับราชการเป็นพนักงานเทศบาล เป็นเหตุให้ต้องงดเบี้ยหวัด และกรมบัญชีกลางได้งดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย โดยข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๘(๓) ให้งดเบี้ยหวัดในกรณีที่ทหารผู้นั้นเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว โจทก์มีเพียงหนังสือเรียกให้จำเลยไปทำหนังสือรับสภาพหนี้กรณีได้รับเงินเกินสิทธิ และส่งเงินคืนคลัง ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๕ การออกหนังสือของโจทก์มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันจะถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ฐานอันเป็นที่มาของข้อพิพาทดังกล่าว จึงไม่ใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งคำฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการสังกัดโจทก์ ในฐานะที่เป็นเอกชน ไม่ใช่กรณีหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ อันก่อให้เกิดความรับผิดอย่างอื่นต่อเอกชนตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อพิพาทคดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาททางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเสียแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งได้รับเงินไปโดยไม่มีสิทธิหรือเกินสิทธิ อันเป็นการรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันมีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั่วไป
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกองทัพบก โจทก์ สิบเอกหรือนายธนศักดิ์ ลีลา จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share