แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้ แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด และขอรังวัดสอบเขตที่ดิน แต่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร แจ้งว่าที่ดินของโจทก์เป็นถนนซึ่งประชาชนใช้สัญจรร่วมกันเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปี จึงไม่สามารถดำเนินการรังวัดสอบเขตแก่โจทก์ได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคาค่าที่ดินและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีไว้สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคาที่ดินและค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๘/๒๕๕๘
วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นายเชื้อ พัวไพบูลย์วงศ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๑๘/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๓๔๘ ตำบลออเงิน อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๕๒ ตารางวา โจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดิน พบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงอยู่ในถนนจตุโชติ และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า ที่ดินของโจทก์เป็นถนนจตุโชติซึ่งประชาชนใช้สัญจรร่วมกันเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปี จึงไม่สามารถดำเนินการรังวัดสอบเขตแก่โจทก์ได้ แต่โจทก์เห็นว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ทั้งโจทก์ไม่เคยแสดงเจตนาให้ผู้อื่นใช้ที่ดินหรือยินยอมให้ผู้อื่นหรือประชาชนใช้ที่ดินเป็นทางสัญจรสาธารณะร่วมกันมาก่อน ที่ดินของโจทก์จึงไม่ใช่ทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยการใช้ค่าที่ดินเพื่อทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองได้ตัดถนนจตุโชติบนที่ดินของโจทก์ โดยไม่แจ้งเรื่องการเวนคืนที่ดิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคาค่าที่ดินและค่าเสียหาย จำนวน ๔๖๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลแพ่งสั่งรับฟ้องเฉพาะคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานภายในการบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ประชาชนทั่วไปและเจ้าของที่ดินเดิมก่อนเป็นของโจทก์ได้ตกลงร่วมกันสละที่ดินของตนเพื่อก่อสร้างถนน ที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีไว้สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคาที่ดินและค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้มูลคดีพิพาทจะเกิดขึ้นจากโจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องจำเลยในฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่มูลคดีซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยใช้ค่าที่ดินหรือค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างถนนจตุโชติ บนที่ดินซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และโจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ประเด็นหลักแห่งคดีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้เมื่อจำเลยเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดโดยก่อสร้างถนนบนที่ดินของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมและไม่ได้มีการเวนคืนที่ดินของโจทก์ ซึ่งการจัดให้มีและบำรุงรักษาถนนดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๘๙ (๖) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนั้น หากผลของการก่อสร้างถนนตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๓๔๘ โจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดิน พบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงอยู่ในถนน แต่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ที่ดินของโจทก์เป็นถนนซึ่งประชาชนใช้สัญจรร่วมกันเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปี จึงไม่สามารถดำเนินการรังวัดสอบเขตแก่โจทก์ได้ โจทก์เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งโจทก์ไม่เคยแสดงเจตนาให้ผู้อื่นใช้ที่ดินหรือยินยอมให้ผู้อื่นหรือประชาชนใช้ที่ดินเป็นทางสาธารณะ ที่ดินของโจทก์จึงไม่ใช่ทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยการใช้ค่าที่ดินเพื่อทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคาค่าที่ดินและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า เจ้าของที่ดินเดิมก่อนเป็นของโจทก์และประชาชนทั่วไปได้ตกลงร่วมกันสละที่ดินของตนเพื่อก่อสร้างถนน ที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีไว้สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคาที่ดินและค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเชื้อ พัวไพบูลย์วงศ์ โจทก์ กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ