คำวินิจฉัยที่ 44/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่า บิดาโจทก์และผู้มีชื่อซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. จำนวน ๒ แปลง เนื้อที่รวม ๙๓ ไร่ ๖๐ ตารางวา ได้ยื่นคำขอรังวัดเพื่อรวมที่ดินดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทำการรังวัดแล้วรวมที่ดินทั้งสองแปลงมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ๓ ไร่ ๓ งาน ๓๑ ตารางวา ภายหลังนำไปขอออกโฉนดที่ดิน มีเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๑๓.๕ ตารางวา โจทก์รับมรดกจากบิดาจึงเป็นเจ้าของโฉนดที่พิพาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยมิได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ทับที่ดินของโจทก์ ในปี ๒๕๕๖ จำเลยที่ ๔ มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่โฉนดที่พิพาทลดลงจากเดิม โดยให้เหตุผลว่าโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนการรวมที่ดิน ๒ แปลง มีการนำที่ว่างนอกหลักฐานรวมเข้าไปด้วย การออกคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์พร้อมทั้งแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่พิพาท ห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ รบกวนการใช้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ที่ให้แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่พิพาท เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่พิพาทของโจทก์อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นของจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๔/๒๕๕๘

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นายธนาสิทธิ์ สุขะปานนท์ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายเจ๊ะอุเซ็ง ตาเหย็บ ที่ ๑ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๖๐/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๑๓.๕ ตารางวา โดยการรับมรดกจากนายอภิชาติ สุขะปานนท์ บิดา เดิมเมื่อปี ๒๕๓๓ นายอภิชาติ และนางอุไรรัตน์ คณาวิวัฒน์ไชย ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๒๕๔ และเลขที่ ๓๒๕๕ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มาจากบริษัทเก้าสุมาการเกษตรและอุตสาหกรรม จำกัด เนื้อที่รวม ๙๓ ไร่ ๖๐ ตารางวา และยื่นคำขอรังวัดเพื่อรวมกับที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๔ เจ้าหน้าที่ทำการรังวัดแล้วรวมที่ดินทั้งสองแปลงมีเนื้อที่ ๙๖ ไร่ ๓ งาน ๙๑ ตารางวา เนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ๓ ไร่ ๓ งาน ๓๑ ตารางวา โดยให้เหตุผลว่ามุมและระยะในรูปแผนที่ผิดไปจากเขตที่ดินที่แท้จริง ควรแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ให้เป็นไปตามการรังวัดนี้ จากนั้นนายอภิชาติและนางอุไรรัตน์ก็ได้เข้าครอบครองปลูกยางพาราเต็มพื้นที่ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาปี ๒๕๓๘ นายอภิชาติและนางอุไรรัตน์ นำที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๔ (แปลงรวม) ไปรวมกับที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๓ โดยออกเป็นที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๓ (แปลงรวมใหม่) ภายหลังแบ่งที่ดินออกเป็น ๓ แปลง คือที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๙๑๙ เลขที่ ๘๙๒๐ และเลขที่ ๓๒๕๓ (แปลงคง) ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต่อมาปี ๒๕๔๖ นายอภิชาตินำที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๓ (แปลงคง) ไปออกโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๑๓.๕ ตารางวา ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อจำเลยที่ ๓ อ้างว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของสิทธิครอบครองที่ดิน ๑๑ ไร่ ซึ่งบิดาซื้อมาจากนายเจ๊ะหย่า ราชเดวา เมื่อปี ๒๕๐๓ แต่ไม่สามารถทำประโยชน์ได้จึงปล่อยร้างไว้ ภายหลังจำเลยที่ ๑ ตรวจพบว่าการขอรวมเอกสาร น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๔ และเลขที่ ๓๒๕๕ เป็นแปลงเดียวกันนั้น ได้รวมที่ดินของบิดาจำเลยที่ ๑ เข้าไปด้วย ขอให้จำเลยที่ ๔ ทำการตรวจสอบ เมื่อปี ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๑ ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยมิได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ทับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ นายอภิชาติจึงยื่นคำคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนเปรียบเทียบแล้วตกลงกันไม่ได้ จึงมีคำสั่งว่าไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ ๑ เนื่องจากนายอภิชาติมีสิทธิดีกว่า ให้จำเลยที่ ๑ ไปดำเนินการฟ้องคดีภายใน ๖๐ วัน แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยื่นฟ้อง ต่อมาปี ๒๕๕๖ จำเลยที่ ๔ มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่โฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ลดลงจากเดิม ๓ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา โดยให้เหตุผลว่าโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนโดยมีที่ว่างกั้นอยู่ระหว่างที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๔ กับ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๕ การรวมที่ดิน ๒ แปลง มีการนำที่ว่างนอกหลักฐานรวมเข้าไปด้วย โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ภายหลังจำเลยที่ ๒ มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ การออกคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์พร้อมทั้งแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ในส่วนเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา ห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ รบกวนการใช้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ที่ให้แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า บิดาจำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินที่พิพาทจากผู้มีชื่อ นายอภิชาติและนางอุไรรัตน์ ซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๕ และ ๓๒๕๔ และนำไปออกเป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๔ โดยรวมเอาที่ดินของบิดาจำเลยที่ ๑ เข้าไปด้วย ภายหลังขอออกเป็นโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ จำเลยที่ ๑ ได้ขอออกโฉนดเป็นการเฉพาะราย ภายหลังอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนตามกฎหมายที่ดิน และมีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินในโฉนดที่ดินให้ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า การรังวัดออกโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ เป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนโดยนำที่ว่างนอกหลักฐานรวมเข้าไปด้วย การออกโฉนดที่พิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินให้ถูกต้อง การที่จำเลยที่ ๔ โดยรองอธิบดีผู้ซึ่งจำเลยที่ ๓ มอบหมายได้พิจารณาและมีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินในโฉนดที่พิพาทและจำเลยที่ ๔ ได้พิจารณายกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ที่เป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐได้หรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในส่วนที่พิพาท ๓ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา เป็นที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีที่ฟ้องจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๑๓.๕ ตารางวา การที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑๗๘๕/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินดังกล่าวของโจทก์ เป็นเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๔.๕ ตารางวา ลดลงจากเดิม ๓ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายแล้ว ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท ๐๕๑๖.๒(๓)/๒๓๘๗๘ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๖ ว่าจำเลยที่ ๒ ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ที่ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่โฉนดที่ดินดังกล่าวนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ที่ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ของโจทก์ ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑๗๘๕/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ และให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว รวมทั้งห้ามจำเลยที่ ๑ มิให้ทำการใดอันเป็นการรบกวนการใช้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ด้วย ดังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ที่มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๓๗๖ ของโจทก์เป็นสำคัญ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่า บิดาโจทก์และผู้มีชื่อซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๔ และเลขที่ ๓๒๕๕ เนื้อที่รวม ๙๓ ไร่ ๖๐ ตารางวา ได้ยื่นคำขอรังวัดเพื่อรวมที่ดินดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดแล้วรวมที่ดินทั้งสองแปลงมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ๓ ไร่ ๓ งาน ๓๑ ตารางวา ภายหลังนำไปขอออกโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๑๓.๕ ตารางวา โจทก์รับมรดกจากบิดาจึงเป็นเจ้าของโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยมิได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ทับที่ดินของโจทก์ ในปี ๒๕๕๖ จำเลยที่ ๔ มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่โฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ลดลงจากเดิม ๓ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา โดยให้เหตุผลว่าโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนโดยมีที่ว่างกั้นอยู่ระหว่างที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๔ กับ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๕๕ การรวมที่ดิน ๒ แปลง มีการนำที่ว่างนอกหลักฐานรวมเข้าไปด้วย การออกคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์พร้อมทั้งแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ รบกวนการใช้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ที่ให้แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่พิพาท จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า การรังวัดออกโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ เป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนโดยนำที่ว่างนอกหลักฐานรวมเข้าไปด้วย การออกโฉนดที่พิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินให้ถูกต้อง การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินในโฉนดที่พิพาทและจำเลยที่ ๔ ได้พิจารณายกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดเลขที่ ๑๕๖๓๗๖ ของโจทก์อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นของจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายธนาสิทธิ์ สุขะปานนท์ โจทก์ นายเจ๊ะอุเซ็ง ตาเหย็บ ที่ ๑ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share