คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8874/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมายวันที่ 15 มีนาคม 2540 ครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำให้การในวันจันทร์ที่14 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์ แต่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 19)พ.ศ. 2540 ให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์ จากวันที่ 12,13และ 14 เมษายน เป็นวันที่ 13,14 และ 15 เมษายน และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งให้กระทรวง ทบวง กรม ทราบถึงประกาศดังกล่าวโดยในส่วนของวันหยุดชดเชยให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 เรื่อง วันหยุดชดเชยของทางราชการว่าในกรณีวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์วันใดตรงกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ ให้เลื่อนไปหยุดในวันทำงานถัดไปด้วย เมื่อวันที่ 13 เมษายน2540 ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ วันที่ 14 และ15 ตรงกับวันจันทร์และวันอังคารเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนไปหยุดชดเชยในวันที่ 16 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันทำงานถัดไปด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 17 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการได้ และข้อเท็จจริงว่าวันใดเป็นวันหยุดราชการหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป และศาลรู้ได้เองโดยคู่ความไม่ต้องนำสืบ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้ จำเลยที่ 2รับผิดชำระหนี้แทนในฐานะผู้ค้ำประกันหากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 2จะขาดนัดยื่นคำให้การ มีสิทธิเพียงสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ ซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จะชอบก็ตาม แต่การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 2รับผิดแทนจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือไม่เพียงใด ต้องรับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบให้ปรากฏก่อนเพราะจำเลยที่ 2อาจมีสิทธิเกี่ยงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนตน เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 และสั่งให้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโดยผิดหลง พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 จะนำสืบจึงไม่ปรากฏไม่ชอบที่ศาลฎีกาจะพิจารณาพิพากษาฎีกาของจำเลยที่ 2 ไปโดยไม่รอฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ก่อน แต่เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเพียงจำเลยที่ 1 เห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 600,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2539 ทั้งนี้ จำเลยที่ 1ได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้ว โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดชำระหนี้แทนหากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 127,500 บาทขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 727,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โดยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2538จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน127,500 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ในประการแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2540 ให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์จากวันที่ 12, 13 และ 14 เมษายน เป็นวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน และกรณีวันหยุดราชการประจำปีวันใดตรงกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปีวันนั้นไป หยุดในวันทำงานถัดไป วันที่ 13เมษายน 2540 ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์จึงต้องเลื่อนไปหยุดชดเชยในวันที่ 16 เมษายน 2540 การที่จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 17 เมษายน2540 จึงย่อมทำได้โดยชอบ เห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2540จึงครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นคำให้การในวันจันทร์ที่ 14 เมษายน2540 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์ แต่เนื่องจากมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ(ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2540 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 27 มีนาคม 2540 ให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์ จากวันที่ 12, 13 และ 14 เมษายนเป็นวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0206/ว 69ลงวันที่ 27 มีนาคม 2540 แจ้งให้กระทรวง ทบวง กรม ทราบถึงกรณีตามประกาศดังกล่าว โดยในส่วนของวันหยุดชดเชยให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 เรื่องวันหยุดชดเชยของทางราชการว่า ในกรณีวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์วันใดตรงกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ ให้เลื่อนไปหยุดในวันทำงานถัดไปด้วยดังนั้น เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2540 ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ วันที่ 14 และ 15 ตรงกับวันจันทร์และวันอังคารจึงเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนไปหยุดชดเชยในวันที่ 16 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันทำงานถัดไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 17 เมษายน2540 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 และข้อเท็จจริงที่ว่าวันใดเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปและศาลรู้ได้เองโดยคู่ความไม่ต้องนำสืบ ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 8พิพากษายืนมานั้นจึงไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป

สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องมีมูลหนี้มาจากการขายสลากกินรวบนั้น เห็นว่า เนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้ จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้แทนในฐานะผู้ค้ำประกันหากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระ มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 2 จะขาดนัดยื่นคำให้การ มีสิทธิเพียงสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จะชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 2รับผิดในมูลหนี้ดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือไม่เพียงใด จำเป็นที่ศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 1นำสืบให้ปรากฏในสำนวนเสียก่อนเพราะจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันอาจมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688, 689 และ 690ที่จะเกี่ยงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนตน เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 และสั่งให้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโดยผิดหลง พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 จะนำสืบจึงไม่ปรากฏในสำนวน ไม่ชอบที่ศาลฎีกาจะพิจารณาพิพากษาฎีกาของจำเลยที่ 2ไปโดยไม่รอฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ก่อน อย่างไรก็ตามคดีนี้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเพียงรายเดียว จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ เฉพาะจำเลยที่ 1ซึ่งมีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบเท่านั้น ไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณามาโดยชอบแล้ว”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2540 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากนั้นเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 ใหม่จนเสร็จการพิจารณาจึงพิพากษาคดีจำเลยทั้งสองใหม่ตามรูปคดีต่อไป

Share