คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงเกี่ยวกับการรับบัตรเครดิต มีข้อความจำกัดความรับผิดของโจทก์ว่า “ในกรณีที่ธนาคารได้รับและตรวจพิจารณา Sales Slip (บันทึกรายการใช้บัตรเครดิต) ที่ร้านค้าส่งมาเข้าบัญชีแล้วเห็นว่า มีข้อสงสัยและ/หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้สงสัยได้ว่าการดำเนินการในการใช้บัตร และ/หรือออก Sales Slip ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมา และ/หรือไม่ว่าโดยประการใดธนาคารมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงิน และ/หรือการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันข้างต้นได้ และในกรณีที่ธนาคารได้จ่ายเงิน และ/หรือนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันข้างต้นไปแล้ว ร้านค้าตกลงชำระคืนเงินที่ได้รับหรือเบิกถอนไปจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวให้แก่ธนาคาร…” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากที่โจทก์นำเงิน 486,800 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว โจทก์ได้รับแจ้งจากบริษัทมาสเตอร์การ์ดอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ว่าบัตรเครดิตที่มีผู้นำไปใช้ซื้อสินค้าจากจำเลยทั้ง 9 ครั้งเป็นบัตรปลอม กรณีจึงต้องด้วยข้อตกลงที่ว่า “…หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้สงสัยได้ว่าการดำเนินการในการใช้บัตร และ/หรือออก Sales Slip ดังกล่าว จะไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมา และ/หรือไม่ว่าโดยประการใด…” อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยหรือหากโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเงินฝากของจำเลยได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการรับบัตรเครดิตหรือไม่
โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากบันทึกข้อตกลงในการรับบัตรเครดิต ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๖๐๐,๒๗๓.๔๗ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงิน ๔๘๕,๔๐๗.๓๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๔๘๕,๔๐๗.๓๔ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๔ จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการรับบัตรเครดิตกับโจทก์มีใจความโดยสรุปว่า ในการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้าจำเลยยอมรับบัตรเครดิตวีซ่าที่ออกโดยธนาคารซึ่งเป็นสมาชิกของสำนักงานวีซ่าอินเตอร์เนชั่นแนลและบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดที่ออกโดยธนาคารซึ่งเป็นสมาชิกของบริษัทมาสเตอร์การ์ดอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยยังไม่เรียกเก็บเงินสดค่าสินค้าหรือค่าบริการจากลูกค้าในขณะนั้น แต่จะตรวจสอบว่าลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตดังกล่าวเป็นเจ้าของบัตรเครดิตที่แท้จริงหรือไม่ โดยตรวจดูลายมือชื่อด้านหลังบัตรเครดิตเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของผู้ถือบัตรเครดิต และในกรณีที่ลูกค้าเป็นชาวต่างประเทศจะต้องเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในหนังสือเดินทางด้วย เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วจำเลยจะนำบัตรเครดิตของลูกค้ารูดบัตรผ่านเครื่องรูดบัตรที่โจทก์ติดตั้งไว้ที่ร้านค้าของจำเลย แล้วบันทึกรายการการใช้บัตรเครดิตส่งไปขอรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์ตรวจดูบันทึกรายการใช้บัตรเครดิตแล้วเห็นว่าถูกต้องก็จะโอนเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย และเรียกเก็บเงินพร้อมค่าธรรมเนียมจากผู้ถือบัตรเครดิต ทั้งนี้ มีข้อตกลงว่า หากโจทก์เห็นว่าบันทึกการใช้บัตรเครดิตไม่ถูกต้องไม่ว่าด้วยเหตุใด โจทก์มีสิทธิปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่จำเลย ในกรณีที่โจทก์จ่ายเงิน หรือนำเงินฝากเข้าบัญชีของจำเลยแล้วโจทก์มีสิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีเงินฝากของจำเลยได้ ระหว่างวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๕ มีผู้ซื้อสินค้าจากร้านค้าของจำเลยรวม ๙ ครั้ง คิดเป็นมูลค่า ๔๘๖,๘๐๐ บาท ผู้ซื้อได้ชำระราคาด้วยบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด ซึ่งจำเลยได้รับอนุมัติจากโจทก์เกี่ยวกับวงเงินในการใช้บัตรแต่ละครั้งแล้วจำเลยได้จัดทำบันทึกรายการการใช้บัตรเครดิตส่งไปให้โจทก์เพื่อขอรับเงินค่าสินค้า หลังจากนั้นโจทก์นำเงินจำนวน ๔๘๖,๘๐๐ บาท ฝากเข้าบัญชีของจำเลยและจำเลยถอนเงินจำนวนนั้นไปแล้ว ต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โดยอ้างว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บัตรเครดิตได้ เนื่องจากบัตรเครดิตที่มีผู้นำไปใช้ชำระราคาสินค้าเป็นบัตรปลอม โจทก์หักเงินในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยชำระหนี้โจทก์ได้เพียง ๑,๓๙๒.๖๖ บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดคืนเงินจำนวน ๔๘๕,๔๐๗.๓๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับการรับบัตรเครดิตมีข้อความจำกัดความรับผิดของโจทก์ว่า “ในกรณีที่ธนาคารได้รับและตรวจพิจารณา Sales Slip (บันทึกรายการใช้บัตรเครดิต) ที่ร้านค้าส่งมาเข้าบัญชีแล้ว เห็นว่า มีข้อสงสัยและ/หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้สงสัยได้ว่าการดำเนินการในการใช้บัตร และ/หรือออก Sales Slip ดังกล่าวจะไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมา และ/หรือไม่ว่าโดยประการใด ธนาคารมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงิน และ/หรือการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันข้างต้นได้ และในกรณีที่ธนาคารได้จ่ายเงิน และ/หรือนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันข้างต้นไปแล้ว ร้านค้าตกลงชำระคืนเงินที่ได้รับหรือเบิกถอนไปจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวแก่ธนาคาร…” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่า หลังจากที่โจทก์นำเงินค่าสินค้าจำนวน ๔๘๖,๘๐๐ บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว โจทก์ได้รับแจ้งจากบริษัทมาสเตอร์การ์ดอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ว่า บัตรเครดิตที่มีผู้นำไปใช้ซื้อสินค้าจากจำเลยทั้ง ๙ ครั้งเป็นบัตรปลอม กรณีจึงต้องด้วยข้อตกลงที่ว่า “…หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้สงสัยได้ว่าการดำเนินการในการใช้บัตรและ/หรือออก Sales Slip ดังกล่าวจะไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมาและ/หรือไม่ว่าโดยประการใด…” อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลย หรือหากโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเงินฝากของจำเลยได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการรับบัตรเครดิตหรือไม่ ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อตกลงเรื่องการรับบัตรเครดิตจากลูกค้าแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าสินค้าจำนวน ๔๘๖,๘๐๐ บาท จากโจทก์ เมื่อโจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้วโจทก์จะเรียกคืนไม่ได้จึงฟังไม่ขึ้น จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน ๔๘๖,๘๐๐ บาท แก่โจทก์ตามข้อตกลงนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้หักเงินในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ๑,๓๙๒.๖๖ บาท จำเลยก็ต้องชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่อีก ๔๘๕,๔๐๗.๓๔ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากบันทึกข้อตกลงในการรับบัตรเครดิต ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
พิพากษายืน.

Share