คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 มิได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ยังจ่ายโบนัสให้พนักงานบางคน และเลือกเลิกจ้างพนักงานเพียง 20 คน รวมทั้งโจทก์ ซึ่งฝ่ายฝึกอบรมที่โจทก์เป็นหัวหน้ามีพนักงานเพียงสามคน จึงไม่ใช่หน่วยงานเดียวกันมีจำนวนพนักงานมากเกินไปหรือสามารถทดแทนกันได้ การที่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรม ต่อมาจำเลยที่ 2 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ อ้างเหตุว่าเพื่อเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารงานใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย โจทก์ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยุบตำแหน่งของโจทก์เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารงานใหม่หรือเพื่อการประหยัดตามที่อ้าง โดยจำเลยที่ 2 ยังจ้างพนักงานเข้ามาใหม่ ทำหน้าที่แทนโจทก์ ได้รับค่าจ้างสูงกว่าโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะประสบภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ จำเลยที่ 2 ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารงานโดยลดพนักงาน ยกเลิกตำแหน่งงานโดยพิจารณาการทำงานเป็นหลัก โดยเฉพาะฝ่ายฝึกอบรมมีครูผู้ฝึกอบรมสามคนรวมทั้งโจทก์ เมื่อลูกค้าบอกเลิกสัญญาจำนวนมากจึงจำเป็นต้องลดจำนวนครูผู้ฝึกอบรมและโจทก์ไม่เหมาะสมต่อแนวทางการฝึกอบรมแนวใหม่ มีทัศนคติในทางลบต่อหลักสูตรการอบรมแนวใหม่ ขาดทักษะในการสื่อสารถ่ายทอดฝึกอบรมแก่พนักงานรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์เพื่อให้สอดคล้องกับการลดกำลังคนและไม่ได้รับพนักงานเข้ามาใหม่ จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยการโอนมาจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายน 2534 นับแต่นั้นมาโจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเลยที่ 2 ไม่นำพยานมาสืบว่ามีฐานะทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ แต่กลับได้ความจากนายณรงค์ วงศ์ประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายธุรการลูกค้าว่าในปี 2541 จำเลยที่ 2 จ่ายเงินโบนัสให้พนักงานบางคนไม่เกินหนึ่งเดือนนอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือลดจำนวนพนักงานลงโดยมีหลักเกณฑ์เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยทั่วหน้า แต่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างพนักงานเพียงประมาณ 20 คนรวมทั้งโจทก์ ประกอบกับฝ่ายฝึกอบรมซึ่งมีโจทก์เป็นหัวหน้ามีพนักงานเพียงสามคนได้แก่ตัวโจทก์ นายรักพล เที่ยงกระโทก และนายรังสิต โพธิโสภณ โจทก์ต้องทำทุกอย่างในการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี ภาคสนามและการป้องกันอัคคีภัย ทั้งต้องทำเอกสารประกอบการฝึกอบรมด้วย ส่วนนายรักพลและนายรังสิตจะเน้นหนักในด้านวิชาการทหาร ฝึกแถวและฝึกระเบียบวินัย แสดงว่าโจทก์และพนักงานอีกสองคนดังกล่าวทำหน้าที่ตามบทบาทและความถนัดของตัวเองไม่ใช่กรณีพนักงานหน่วยงานเดียวกันมีจำนวนมากเกินไปหรือสามารถทดแทนกันได้พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 ไม่พอฟังว่ามีเหตุสมควรเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยที่ 2จ่ายค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 กันยายน 2541) จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 อุทธรณ์มีรายละเอียดมากถึงห้าข้อแต่พอสรุปใจความได้ว่าเมื่อลูกค้าจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญา จำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัยก็ต้องลดลงตามไปด้วย ทำให้รายได้จำเลยที่ 2 ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายยังคงเดิม จำเลยที่ 2 จ่ายโบนัสให้พนักงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมิได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 มีกำไร จำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าอนาคตจะดำเนินกิจการไปได้หรือไม่ จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการบริหาร ลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดพนักงานตามสัดส่วนเพื่อให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ตามนโยบายยกเลิกตำแหน่งงานของโจทก์ และไม่มีนโยบายรับพนักงานตำแหน่งโจทก์อีกต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยที่ 2 มิได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ แต่กลับได้ความว่าจำเลยที่ 2 จ่ายโบนัสให้พนักงานบางคน จำเลยที่ 2 เลือกเลิกจ้างพนักงานเพียง 20 คน รวมทั้งโจทก์ ทั้งฝ่ายฝึกอบรมซึ่งโจทก์เป็นหัวหน้ามีพนักงานเพียงสามคน จึงไม่ใช่หน่วยงานเดียวกันมีจำนวนพนักงานมากเกินไปหรือสามารถทดแทนกันได้ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อุทธรณ์จำเลยที่ 2 ยกเหตุผลต่าง ๆ ขึ้นหักล้างเหตุผลที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 2 ต้องการดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2

Share