คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 682/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนต่างไม่เคยรู้จักจำเลยและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนไม่มีเหตุน่าระแวงว่าจะให้การปรักปรำจำเลยทั้งจับจำเลยกับพวกได้ในเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุลักษณะของจำเลยกับพวกสีเสื้อผ้าหมวกที่พบอยู่กับจำเลยล้วนตรงกับที่ผู้เสียหายและธ.ได้แจ้งความไว้สภาพรถที่จำเลยขับขี่ตรงกับสภาพรถที่ผู้เสียหายและธ. ได้แจ้งไว้ด้วยแม้จำเลยนำสืบอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจให้ผู้เสียหายชี้ตัวหลายครั้งแต่ก็ได้ความจากผู้เสียหายตอบโจทก์ถามติงว่าครั้งแรกที่ไปดูเจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าให้ไปดูก่อนยังไม่ต้องบอกว่าใช่หรือไม่เพราะไม่ต้องการให้ชี้ต่อหน้าคนร้ายแต่มาบอกภายหลังดูคนร้ายเสร็จแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนประสงค์ให้ผู้เสียหายมีความแน่ใจเสียก่อนจึงค่อยชี้ตัวจำเลยหาใช่เรื่องที่ผู้เสียหายเกิดความลังเลใจแต่ประการใดไม่พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ได้ร่วมกระทำผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339,340 ตรี, 80, 83, 74, 75, 77 ขอให้ริบของกลางและขอให้ศาลเรียกมารดาจำเลยมาวางข้อกำหนดให้ระวังดูแลจำเลยมิให้ก่อเหตุร้าย และกำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระต่อศาลเมื่อจำเลยก่อเหตุร้ายขึ้นอีก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี,80, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ลงโทษจำคุกจำเลย5 ปี พิเคราะห์รายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาแล้วเห็นว่า หากจำเลยได้รับการฝึกอบรมเพื่อขัดเกลานิสัยจะเป็นผลดีแก่จำเลยมากกว่าการลงโทษจำคุกจึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา มีกำหนดขึ้นต่ำ 2 ปี และขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2), 105รถจักรยานยนต์ของกลางไม่ริบ ให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ได้ร่วมกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางสาวพรทิพย์ จิตตพันธ์ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ กะลาสี เป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า รถคันหน้าที่มากระแทกรถของผู้เสียหาย คนขับเป็นคนด้วยใส่เสื้อสีขาว ใส่หมวกแก๊ปสีดำคนที่นั่งซ้อนท้ายใส่เสื้อผ้าสีดำลายลักษณะผอม ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ได้วิ่งหนี้คนร้าย มีคนในบ้านออกมา ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ได้เล่าเรื่องคนร้ายให้ฟัง และได้แจ้งลักษณะคนร้ายทั้งสองให้ทราบชายดังกล่าวได้แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจทางศูนย์วิทยุ 191 โดยได้แจ้งลักษณะคนร้ายด้วยซึ่งตรงกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกชาญศิริ สุขรวย ผู้ร่วมจับกุมจำเลยว่าได้รับแจ้งเหตุจากศูนย์วิทยุ 191 ระบุคนร้ายที่ขับรถสวมเสื้อยึดสีขาว สวมหมวกสีดำ คนซ้อนท้ายสวมเสื้อสีดำลายขวาง กางเกงสีดำต่อมาพบรถจักรยานยนต์ซึ่งมีจำเลยเป็นคนขับและมีพวกอีกคนนั่งซ้อนท้ายมีท่าทางพิรุธ จึงเรียกให้หยุด ปรากฏว่าจำเลยกับพวกทำหน้าเลิกลั่กและขับหนีไป ร้อยตำรวจเอกชาญศิริกับพวกจึงขับตามไปทันตรวจค้นพบหมวกสีดำอยู่ที่หน้ากากรถด้วย เมื่อคุมตัวจำเลยกับพวกไปสถานีย่อยศูนย์วิทยุ 191 เพื่อให้ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ดูตัว ขณะนั้นผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์รออยู่แล้วพอผู้เสียหายพบจำเลย ผู้เสียหายเดินเข้าไปและขอตบหน้าจำเลย 1 ที แต่พยานห้ามไว้ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ยืนยันว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ขับรถขณะชิงทรัพย์ร้อยตำรวจเอกสุรพงษ์ ถนอมจิตรพนักงานสอบสวนก็เบิกความยืนยันว่า ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ได้แจ้งถึงลักษณะคนร้ายและสีเสื้อผ้าของคนร้ายด้วย เมื่อร้อยตำรวจเอกชาญศิรินำคนร้ายพร้อมด้วยรถจักรยานยนต์มามอบให้ทันที่ที่ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์เห็นก็ยืนยันว่า จำเลยกับพวกเป็นคนร้ายที่ชิงทรัพย์ นอกจากนี้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับก็มีสภาพมีป้ายวงกลมบังตัวเลขทะเบียนรถตรงตามที่ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ได้แจ้งความไว้ เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนต่างไม่เคยรู้จักจำเลยและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุน่าระแวงว่าจะให้การปรักปรำจำเลย ทั้งจับจำเลยกับพวกได้ในเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุลักษณะของจำเลยกับพวก สีเสื้อผ้า หมวกที่พบอยู่กับจำเลยล้วนตรงกับที่ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ได้แจ้งความไว้ก่อนหน้านั้น แม้แต่สภาพของรถที่จำเลยขับขี่ก็ตรงกับสภาพรถที่ผู้เสียหายและนางสาวธวลรรตม์ได้แจ้งไว้ด้วย พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ได้ร่วมกระทำผิดตามฟ้อง ที่จำเลยนำสืบอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจให้ผู้เสียหายชี้ตัวหลายครั้งได้ความจากผู้เสียหายตอบโจทก์ถามติงว่า ครั้งแรกที่ไปดูเจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าให้ไปดูก่อนแต่ยังไม่ต้องบอกว่าใช่หรือไม่ ขณะไปดูซึ่งหน้ามีคนร้ายนั่งอยู่2 คนผู้เสียหายจำได้ แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ชี้ต่อหน้าคนร้ายแต่มากบอกภายหลังดูคนร้ายเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนประสงค์ให้ผู้เสียหายมีความแน่ใจเสียก่อนจึงค่อยชี้ตัวจำเลย หาใช่เรื่องที่ผู้เสียหายเกิดความลังเลใจแต่ประการใดไม่พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักพอที่จะฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ไป ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น

Share