แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน2515 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ประกอบข้อ 32 จะเห็นได้ว่า ถึงแม้การจัดสรรที่ดิน ซึ่งผู้จัดสรรที่ดินกระทำอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24พฤศจิกายน 2515 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 32 จะไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อ 30 กล่าวคือ ถือว่าสาธารณูปโภคเช่นว่านั้นตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และจากถ้อยคำในข้อ 32ที่ว่า “ผู้ใดจัดสรรที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจา-นุเบกษา และ…หรือได้จัดให้มีสาธารณูปโภค…หรือที่ประกอบการอุตสาหกรรมไปแล้วบางส่วน…ฯลฯ” ย่อมมีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่า สาธารณูปโภคดังกล่าวคือสาธารณูปโภคที่มีอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24พฤศจิกายน 2515 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หาใช่สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินภายหลังประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับไม่เมื่อบริษัท น.ดำเนินการจัดสรรที่ดินหมู่บ้าน ม.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2516 และถนนซอยพิพาทเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นก่อนที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ใช้บังคับ ถนนซอยพิพาทจึงตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 และ 32 ถึงแม้ถนนซอยพิพาทเป็นทางเข้าออกบ้านของจำเลยทั้งสองสู่ถนนสายหลักของหมู่บ้าน ม.และถนนสาธารณะ โดยผ่านรั้วด้านข้างบ้านของโจทก์และเจ้าของบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งไม่มีประตูที่รั้วด้านดังกล่าว แต่ในเมื่อถนนซอยพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30และ 32 โจทก์ในฐานะเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินจัดสรร จึงมีสิทธิใช้ถนนซอยพิพาทได้ซึ่งอาจจะใช้เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว เช่น ในยามเกิดอัคคีภัยเป็นต้นที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดทำประตูรั้วเหล็กปิดกั้นถนนซอยพิพาท ย่อมทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วเหล็กดังกล่าวได้