คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คู่สัญญาแสดงเจตนาทำเอกเทศสัญญาสองลักษณะต่างกันแม้จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ย่อมกระทำได้เมื่อสัญญาซื้อขายติดตั้งและก่อสร้างที่โจทก์ทำไว้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยระบุว่าการจัดหาเครื่องมือและวัตถุดิบและการบริการก่อสร้างและติดตั้งเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากกันและยังได้แบ่งมูลค่าของแต่ละสัญญาออกจากกันจึงต้องตีความเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาว่าโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจตนาทำสัญญาซื้อขายเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์กับสัญญาจ้างทำของแยกต่างหากจากกันเป็น2ลักษณะและแยกราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายออกต่างหากจากสินจ้างหาใช่คู่สัญญาเจตนาทำสัญญาจ้างทำของโดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระไม่ ขณะโจทก์ทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโจทก์ยังไม่มีสถานธุรกิจประจำซึ่งโจทก์ใช้ประกอบธุรกิจการขายตั้งอยู่ในประเทศไทยจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยในขณะทำสัญญาขายเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแม้การก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมสายโทรศัพท์จะเป็นโครงการที่โจทก์ต้องเข้ามาดำเนินการมีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า6เดือนอันถือได้ว่าโจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ5.2(ซ)แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนก็เป็นกรณีที่โจทก์มีสถานประกอบการถาวรสำหรับธุรกิจตามสัญญาจ้างทำของเท่านั้นหาได้มีความหมายว่าสถานประกอบการถาวรดังกล่าวเป็นสถานประกอบการสำหรับธุรกิจตามสัญญาซื้อขายไปด้วยไม่ฉะนั้นกำไรจากธุรกิจการขายเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำไว้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอันเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาจ้างทำของจึงถือไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรของโจทก์ในประเทศไทยดังนั้นโจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากธุรกิจการขายเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวตามข้อ7.1แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่18)พ.ศ.2505มาตรา3ส่วนกำไรจากธุรกิจการก่อสร้างตามสัญญาจ้างทำของนั้นไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้แต่อย่างใด เมื่อเงินได้ตามสัญญาซื้อขายได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เงินได้ดังกล่าวที่มีการจำหน่ายออกไปจากประเทศไทยจึงไม่ต้องเสียภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรตามมาตรา70ทวิแห่งประมวลรัษฎากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อแรกว่า สัญญาที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทำกับโจทก์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม2525 ตามเอกสารหมาย จ.10 เป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตกลงให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นอันเป็นเอกเทศสัญญาเดียวหรือเป็นสัญญาซื้อขาย(เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์) กับสัญญาจ้างทำของ (การก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์) สองเอกเทศสัญญาแยกต่างหากจากกันเห็นว่า ปัญหาข้อนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกับโจทก์จะได้ลงนามในสัญญาซึ่งทำไว้แต่เพียงฉบับเดียวตามเอกสารหมาย จ.10 และในสัญญาจะระบุจำนวนเงินที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องชำระแก่โจทก์ไว้เพียงจำนวนเดียว ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจ้างโจทก์ทำของ (ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์) โดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระไม่ เพราะนิติกรรมสองฝ่ายหรือสัญญานั้นเกิดขึ้นได้จากการกระทำด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ซึ่งฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาด้วยคำเสนออีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาด้วยคำสนองรับที่ถูกต้องตรงกัน ดังนั้น หากคู่สัญญาแสดงเจตนาทำเอกเทศสัญญาสองลักษณะต่างกัน แม้จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ย่อมกระทำได้ ไม่มีกฎหมายห้ามแต่อย่างใด โจทก์มีนายเฮอร์วิก อี แวร์เบก หัวหน้าวิศวกรโครงการและที่ปรึกษาโครงการของโจทก์กับนางสาวกาญจนา นิมมานเหมินทร์ที่ปรึกษากฎหมายด้านภาษีอากรและผู้รับมอบอำนาจของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 และ จ.10 มีใจความว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจตนาทำสัญญากับโจทก์ 2 ลักษณะเอกเทศสัญญา คือสัญญาซื้อขาย (เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์) กับสัญญาจ้างทำของ (ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์)ดังที่มีข้อความระบุไว้ใน Management Proposal Section 1 Contract2 Agreement for Sale, Installation and Construction(สัญญา ซื้อขาย ติดตั้ง และก่อสร้าง) ตามเอกสารหมาย จ.6 หน้า 120ว่า “บันทึกและตกลงข้อเสนอของเบลส์ (โจทก์) ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า การจัดหาเครื่องมือและวัตถุดิบและการบริการติดตั้งจะเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากกันในสัญญาระหว่าง TOT (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) กับเบลส์ นอกจากนี้ใน Record of Negotiationนั้น Summary of Cost ตามเอกสารหมาย จ.2 หน้า 209 ยังได้แบ่งมูลค่าของสัญญาออกเป็น Main Stems และ Optional Stems โดยแยกรายละเอียดลงไว้เป็นแต่ละรายการด้วยว่าค่าอะไร จำนวนเท่าใดต้องจ่ายด้วยเงินตราสกุลใดไว้ด้วยเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 นี้เป็นเอกสารที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ข้อ โอ และข้อ ไอซึ่งข้อ 1 ของสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ระบุว่า เป็นเอกสารประกอบสัญญาที่ก่อให้เกิดและเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ฉะนั้นจึงต้องตีความเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาจากถ้อยคำสำนวนที่ได้เขียนลงไว้ในเอกสารประกอบสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ให้เป็นผลบังคับได้ว่าโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจตนาทำสัญญาซื้อขาย(เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์) กับสัญญาจ้างทำของ (ก่อสร้าง ติดตั้งเครือข่ายชุมทางโทรศัพท์) แยกต่างหากจากกันเป็น 2 ลักษณะเอกเทศสัญญาและแยกราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายออกต่างหากจากสินจ้างตามรายละเอียดในเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 209 หาใช่คู่สัญญาเจตนาทำสัญญาจ้างทำของโดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระตามที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อที่สองมีว่า ขณะโจทก์ทำสัญญาซื้อขายเครื่องมืออุปกรณ์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่30 มีนาคม 2525 นั้น โจทก์มีสถานประกอบการถาวรอยู่ในประเทศไทยแล้วหรือไม่ เห็นว่า ขณะโจทก์ทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2525 ตามเอกสารหมาย จ.10 นั้น โจทก์ยังไม่มีสถานธุรกิจประจำซึ่งโจทก์ใช้ประกอบธุรกิจการขายตั้งอยู่ในประเทศไทยข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยในขณะทำสัญญาขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่วนที่จำเลยอ้างว่าสัญญาจ้างทำของ (ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์) เป็นโครงการที่โจทก์ต้องเข้ามาดำเนินการมีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือนจึงถือว่าโจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5.2 (ซ) แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ความตกลงในข้อดังกล่าวมีความหมายเพียงว่ากรณีที่โจทก์ไม่มีสถานประกอบการถาวรตามความตกลงข้อ 5.1 แต่มีสถานที่ตั้งโครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบดำรงอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 6 เดือน ก็ให้ถือว่า โจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยสำหรับธุรกิจตามสัญญาจ้างทำของนั้นเท่านั้นหาได้มีความหมายว่า สถานประกอบการถาวรในประเทศไทยดังกล่าวเป็นสถานประกอบการถาวรของโจทก์สำหรับธุรกิจตามสัญญาซื้อขาย (เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์)ไปด้วยไม่ ฉะนั้นกำไรจากธุรกิจการขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ตามสัญญาซื้อขาย ที่โจทก์ทำกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ผู้ขายอยู่ต่างประเทศซื้อขายกันในราคา ซี.ไอ.เอฟ. ผู้ซื้อส่งเงินไปชำระแก่ผู้ขาย ณ ต่างประเทศและรับผิดชำระอากรขาเข้าเองอันเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาจ้างทำของดังได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้น จึงถือไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย โจทก์ซึ่งเป็นวิสาหกิจซึ่งดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเบลเยี่ยมจึงอยู่ภายใต้อำนาจการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายของประเทศเบลเยี่ยมตามบังคับข้อ 7.1 แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 3จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ว่า การประเมินที่ถูกต้องโจทก์จะต้องเสียภาษีจำนวนเท่าใด ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 หน้า 28 ประกอบเอกสารหมาย ล.1 หน้า 25 ว่า รายรับจำนวน 41,026,412.58 บาท ที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาเป็นฐานในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามประมวลรัษฎากรมาตรา 71(1) นั้น โจทก์อ้างว่าเป็นรายรับค่าขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ จำนวน 32,473,226.58 บาท ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งไปชำระแก่โจทก์ที่สำนักงานใหญ่ประเทศเบลเยี่ยมโดยตรง ส่วนอีกจำนวน 8,553,186 บาท นั้น โจทก์อ้างว่าเป็นค่าก่อสร้าง ค่าขนส่ง และค่าอากรขาเข้า แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่เชื่อข้ออ้างของโจทก์เฉพาะเงินจำนวนหลัง เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ ดังนี้จึงฟังได้ว่าเงินรายรับจำนวน32,473,226.58 บาท เป็นรายรับตามสัญญาซื้อขายเจ้าพนักงานประเมินจึงนำมารวมเป็นฐานในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ไม่ได้ เพราะไม่ใช่กำไรจากกิจการที่โจทก์ได้รับผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยเจ้าพนักงานประเมินคงมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆของเงินจำนวน 8,553,186 บาท อันเป็นเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทำของซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีค่าขนส่งและค่าอากรเข้ารวมอยู่ด้วยเท่านี้คำนวณแล้วเป็นค่าภาษีจำนวน 427,659.30 บาท เมื่อหักค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 410,264.17 บาท ออกให้แล้ว โจทก์คงต้องรับผิดในค่าภาษีรายการนี้เพียงจำนวน 17,395.13 บาท ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 และปี 2527 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินจากยอดรายรับ จำนวน149,023,234.30 บาท และ 272,231,011.52 บาท นั้นโจทก์ไม่ได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่ามีรายรับของสัญญาซื้อขายรวมอยู่ด้วย จึงต้องฟังว่าเป็นรายรับของสัญญาจ้างทำของซึ่งโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยม เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) จึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินในค่าภาษีรายการนี้ทั้งหมดจึงไม่ชอบ
ปัญหาเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 นั้น เจ้าพนักงานประเมินประเมินจากฐานเงินได้ 41,026,412.58 บาท ซึ่งรวมเอารายรับตามสัญญาซื้อขายจำนวน 32,473,226.58 บาท ที่ได้รับยกเว้นภาษีดังได้วินิจฉัยแล้วเข้าไปด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ต้องประเมินจากยอดรายรับตามสัญญาจ้างทำของ จำนวน 8,553,186 บาทเท่านั้น คำนวณแล้วเป็นค่าภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 เพียงจำนวน 106,908.16 บาทส่วนภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 และปี 2527 นั้น เนื่องจากไม่ปรากฎว่ายอดรายรับในปีดังกล่าวมีรายรับตามสัญญาซื้อขายรวมอยู่ด้วยการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินค่าภาษีรายการนี้ทั้งหมดจึงไม่ชอบ
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายนั้นข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันอยู่ที่ว่า โจทก์ออกเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ลูกจ้างด้วยหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เจ้าพนักงานประเมินอ้างว่า โจทก์หักเงินได้ของลูกจ้างและนำส่งแก่เจ้าพนักงานของจำเลยไว้แล้วยังตั้งยอดลูกหนี้ไว้ในงบดุลของสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยและตอนสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีได้โอนยอดเงินดังกล่าวไปเข้าบัญชีของสำนักงานใหญ่จึงเป็นการที่โจทก์ออกเงินภาษีเงินได้ให้แก่ลูกจ้าง แต่ฝ่ายโจทก์อ้างว่าลูกจ้างถูกสำนักงานใหญ่หักภาษีเงินได้ไว้เพื่อเสียภาษีตามกฎหมายประเทศเบลเยี่ยมแล้ว ยังถูกสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแก่เจ้าพนักงานของจำเลยอีกสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยจึงให้ลูกจ้างยืนเงินตามจำนวนดังกล่าวไปชำระก่อนแล้วจึงนำไปหักกลบกับเงินที่สำนักงานใหญ่ได้หักไว้เป็นค่าภาษีตามกฎหมายประเทศเบลเยี่ยมโจทก์หาได้ออกเงินค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ลูกจ้าง ตามที่เจ้าพนักงานประเมินเข้าใจไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายเฮอร์วิก แวร์เบกหัวหน้าวิศวกรโครงการในประเทศไทยของโจทก์ และนางสาวกาญจนาผู้รับมอบอำนาจของโจทก์เบิกความยืนยันตามข้อกล่าวอ้างดังกล่าวกับโจทก์มีเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 36 และ 37 ประกอบคำแปลตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 33 และ 34 สนับสนุน จึงมีน้ำหนักรับฟังได้กรณีหาใช่โจทก์ออกเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ลูกจ้างตามที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เข้าใจและทำการประเมินนั้นไม่ อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาเกี่ยวกับภาษีการค้านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประกอบการค้ารับจ้างทำของโดยมีรายรับในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525สำหรับเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2525 จำนวนเพียง 8,553,186 บาทดังวินิจฉัยไว้ในตอนต้น แต่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าไว้จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับค่าภาษีการค้า 2 เท่าตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89(2) กับค่าปรับภาษีบำรุงเทศบาลด้วย คำนวณแล้วเป็นเงินรวม 564,510.27 บาท แต่เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 282,255.14 บาทจึงเหลือค่าภาษีการค้าที่โจทก์จะต้องรับผิดเพียงจำนวน 282,255.14บาท สรุปแล้วอุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เกี่ยวข้อง และให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล แบบแจ้งภาษีการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share