แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คู่สัญญาเช่าโทรศัพท์หมายเลขพิพาทคือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและจำเลยแต่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าด้วยการแบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศว่าไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์เรียกเข้าหรือเรียกออกโจทก์จะจ่ายผลประโยชน์ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนาทีละ4บาทและกำหนดด้วยว่าการเรียกเก็บเงินองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะเป็นผู้เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการและกล่าวถึงว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและโจทก์ตกลงที่จะแบ่งค่าใช้จ่ายในการลงทุนฝ่ายละครึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นความตกลงระหว่างโจทก์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเท่านั้นถือได้ว่าโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนกันในการหาประโยชน์และผลกำไรร่วมกันนอกจากนี้ระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทยของโจทก์ฉบับที่224ว่าด้วยบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศพ.ศ.2535หมวด6ว่าด้วยการระงับบริการและการยกเลิกการระงับบริการข้อ32มีข้อความว่าผู้เช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ประสงค์จะดำเนินการตามข้อ31.1ให้ยื่นคำขอระงับ/ยกเลิกการขอระงับบริการต่อการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยการขอระงับการใช้บริการหรือยกเลิกการระงับดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ดำเนินการให้เรียบร้อยแล้วดังนี้การที่จำเลยได้แจ้งการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลขพิพาทให้แก่จำเลยร่วมต่อผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่15กันยายน2535และพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ลงชื่อรับแบบขอโอนและรับโอนสิทธิการเช่าสองฝ่ายตามเอกสารหมายล.3ในวันเดียวกันนั้นต้องถือว่าจำเลยได้แจ้งระงับการใช้บริการแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วและเอกสารหมายล.3ซึ่งเป็นแบบฟอร์มขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเองมีใจความว่าจำเลยมีความประสงค์จะขอโอนสิทธิการเช่าพร้อมทั้งภาระผูกพันต่างๆและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ก่อนและที่จะปรากฏต่อไปให้แก่จำเลยร่วมประกอบกับหลังจากมีการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ตามเอกสารหมายล.3แล้วองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องส่งเรื่องให้โจทก์เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับรู้การโอนสิทธิการเช่าซึ่งได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนตามเอกสารหมายล.3ดังกล่าวแล้วและมีผลผูกผันไปถึงโจทก์ด้วยตามข้อตกลงระหว่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกับโจทก์และระเบียบของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นจำเลยจึงยกเอาการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวขึ้นยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา306วรรคหนึ่งจำเลยจึงพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้เช่าโทรศัพท์หมายเลข 76-222100จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งติดตั้ง ณ บ้านเลขที่ 74/7ถนนพูนผล ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2535 มีการใช้บริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์จากเครื่องโทรศัพท์หมายเลข 76-222100 โดยใช้บริการการพูดเรียกออกจากต้นทางอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ไปยังปลายทางต่างประเทศ ได้แก่ไต้หวัน เมื่องฮ่องกง และประเทศสหพันสาธารณรัฐเยอรมัน รวม479 ครั้ง ค่าใช้บริการรวมเป็นเงิน 115,145 บาท แต่จำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 115,145 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ เนื่องจากจำเลยไม่ใช่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิในการเช่าเพื่อใช้บริการโทรศัพท์จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเมื่อจำเลยทราบจากสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ว่า จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าโทรศัพท์หมายเลข 76-222100 จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลยได้สอบถามไปยังองค์การโทรศัพท์พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแจ้งให้จำเลยไปทำเรื่องขอโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าและผู้ใช้บริการและผู้ใช้บริการที่แท้จริงเสียจำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าและใช้บริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2535 จากเครื่องโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวตามฟ้องโจทก์ หลังจากจำเลยโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวให้แก่บริษัทอินเตอร์เย่ากู่ธุรกิจ จำกัด แล้วภาระผูกพันตลอดจนหนี้สินต่าง ๆ ในการใช้บริการโทรศัพท์ทั้งหมดทั้งที่มีอยู่ก่อนหรือจะมีในอนาคต บริษัทอินเตอร์เย่ากู๋ธุรกิจจำกัด จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวโจทก์ต้องเรียกร้องค่าใช้บริการโทรศัพท์จากบิรษัทอินเตอร์เย่ากู๋ธุรกิจ จำกัดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทอินเตอร์เย่ากู๋ธุรกิจ จำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 115,145 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 ธันวาคม 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่24 ตุลาคม 2534 จำเลยทำสัญญาเช่าโทรศัพท์หมายเลข 76-22210 จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ณ สำนักงานบริการโทรศัพท์ภูเก็ตตามสัญญาเช่าหมายเลขโทรศัพท์และอุปกรณ์ต่อเนื่องเอกสารหมาย จ.9โจทก์วางระเบียบให้ผู้เช่าโทรศัพท์จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยสามารถใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจากเครื่องโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์ที่ติดตั้ง ณ บ้านหรือสำนักงานของตนพูดติดต่อถึงกันและกันระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศได้ และเมื่อมีการใช้บริการแล้วโจทก์จะเรียกเก็บเงินจากผู้เช่าโทรศัพท์เครื่องที่ใช้บริการตามอัตราค่าใช้บริการที่โจทก์กำหนดไว้ โดยไม่คำนึงว่าผู้ใดจะเป็นผู้พูดไปต่างประเทศ โจทก์แจ้งให้ผู้เช่าโทรศัพท์ทราบโดยพิมพ์ไว้ในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ตามเอกสารหมาย จ.8ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2535 มีการใช้โทรศัพท์จากเครื่องหมายเลข 76-222100 ซึ่งจำเลยเป็นผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าวติดต่อไปยังไต้หวัน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และเมืองฮ่องกง จำนวน 479 ครั้งคิดเป็นเงินค่าบริการจำนวน 115,145 บาท ต่อมาวันที่ 15 กันยายน2535 จำเลยได้โอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวให้แก่จำเลยร่วมตามแบบขอโอนและรับโอนสิทธิการเช่าสองฝ่ายเอกสารหมายล.3 และในวันเดียวกันนั้นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สำนักงานบริการโทรศัพท์ภูเก็ตได้ทำสัญญาให้จำเลยร่วมเช่าโทรศัพท์เครื่องหมายเลข 76-222100 โดยให้จำเลยร่วมเป็นผู้เช่าต่อจากจำเลยตามสัญญาเช่าหมายเลขโทรศัพท์และอุปกรณ์ต่อเนื่องเอกสารหมายจ.9 แผ่นที่ 3 ถึงแผ่นที่ 4 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดในหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่ใช้บริการระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2535 จำนวน 115,145 บาท หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ระหว่างจำเลยและจำเลยร่วมนั้น จำเลยและจำเลยร่วมทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่เกี่ยวกับโจทก์ โจทก์ไม่ได้ยินยอมในการโอนด้วย และหนี้ค่าบริการโทรศัพท์แห่งประเทศเป็นคนละส่วนกับหนี้ค่าบริการโทรศัพท์ภายในประเทศขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ก่อนวันโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จำเลยต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศต่อไปหาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่ เพราะโจทก์ไม่ได้ตกลงด้วยนั้น เห็นว่า คู่สัญญาเช่าโทรศัพท์หมายเลข 76-222100คือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและจำเลย แต่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีข้อตกลงกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 ว่าด้วยการแบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์เรียกเข้าหรือเรียกออก โจทก์จะจ่ายผลประโยชน์ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย นาทีละ 4 บาท และกำหนดด้วยว่าการเรียกเก็บเงินองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะเป็นผู้เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการและกล่าวถึงว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและโจทก์ตกลงที่จะแบ่งค่าใช้จ่ายในการลงทุนฝ่ายละครึ่ง ตามข้อตกลงดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นความตกลงภายในระหว่างโจทก์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนกันในการหาประโยชน์และผลกำไรร่วมกันนอกจากนี้ระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือระเบียบของโจทก์ฉบับที่ 224 ว่าด้วยบริการโทรศัพท์แห่งประเทศ พ.ศ. 2535 เอกสารหมายจ.7 หมวด 6 ว่าด้วยการระงับบริการและการยกเลิกการระงับบริการข้อ 32 มีข้อความว่าผู้เช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ประสงค์จะดำเนินการตามข้อ 31.1 ให้ยื่นคำขอระงับ/ยกเลิกการขอระงับบริการต่อการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การขอระงับการใช้บริการหรือยกเลิกการระงับดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว ดังนี้ การที่จำเลยได้แจ้งการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลข 76-222100 ให้แก่จำเลยร่วมต่อผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 กันยายน2535 และพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ลงชื่อรับแบบขอโอนสิทธิการเช่าสองฝ่ายตามเอกสารหมาย ล.3 ในวันเดียวกันนั้นต้องถือว่าจำเลยได้แจ้งระงับการใช้บริการแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้ว และเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นแบบฟอร์มขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเองมีใจความว่า จำเลยมีความประสงค์จะขอโอนสิทธิการเช่าพร้อมทั้งภาระผูกพันต่าง ๆ และหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ก่อนและที่จะปรากฏต่อไปให้แก่จำเลยร่วม ประกอบกับนายสุวรรณ สุตตันตบิฏก หัวหน้าแผนกการเงินและรายได้ของโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลังจากมีการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ตามเอกสารหมาย ล.3 แล้ว องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องส่งเรื่องให้โจทก์ เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับรู้การโอนสิทธิการเช่าซึ่งได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับตามเอกสารหมาย ล.3ดังกล่าวแล้ว และมีผลผูกพันไปถึงโจทก์ด้วยตามข้อตกลงระหว่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกับโจทก์เอกสารหมาย จ.6 และระเบียบของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงยกเอาการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวขึ้นยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศตามฟ้อง
พิพากษายืน