คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความซึ่งโจทก์และจำเลยได้ทำไว้ต่อหน้าศาลในคดีอาญาเรียกเงินจำนวน500,000บาทที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่15มกราคม2538แต่จำเลยไม่ชำระให้ในเวลาที่กำหนดจำเลยฟ้องแย้งโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นจำเลยที่1ในคดีดังกล่าวในข้อหายักยอกทรัพย์ทำให้จำเลยไม่สามารถขอคืนเงินค่าปรับนายประกันจากศาลที่สั่งปรับนายประกันเป็นเงินจำนวน500,000บาทได้และความเสียหายส่วนนี้เมื่อนำมาหักกลบกับจำนวนเงินตามฟ้องแล้วจำเลยไม่ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์อีกและการที่โจทก์ไม่ดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ร้องสอดต้องหลบๆซ่อนๆไม่สามารถทำการงานเป็นหลักแหล่งได้จึงให้โจทก์ชำระค่าเสียหายส่วนนี้แก่จำเลยทั้งสองนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องจำนวน360,000บาทและนับถัดจากวันฟ้องอีกเดือนละ15,000บาทจนกว่าโจทก์จะดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์นั้นฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้เกี่ยวกับการขอคืนเงินค่าปรับนายประกันนั้นเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขเพราะไม่แน่ว่าจำเลยทั้งสองจะขอคืนเงินค่าปรับที่ศาลสั่งปรับนายประกันได้หรือไม่ทั้งการนำเงินที่ได้คืนจากค่าปรับเพื่อนำมาหักกลบกับเงินที่ต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความนั้นก็มิได้มีอยู่ในข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ได้ทำไว้ต่อกันข้ออ้างของจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้ออ้างที่ยกขึ้นและในส่วนของค่าเสียหายที่ผู้ร้องสอดไม่ได้ทำงานก็เป็นความเสียหายของผู้ร้องสอดมิใช่ความเสียหายของจำเลยแต่อย่างใดฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสามและมาตรา179วรรคท้าย โจทก์ฟ้องจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ได้กระทำต่อหน้าศาลจึงเป็นเรื่องโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้นหาได้เกี่ยวกับผู้ร้องสอดไม่ผู้ร้องสอดจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่จะใช้สิทธิในการร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินตามข้อตกลงที่ทำไว้ในคดีอาญาจำนวน 534,931.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามข้อตกลงดังกล่าว แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองกับพวกเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวและชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์จะปฏิบัติตามข้อตกลงในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2แก่จำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งรับคำให้การจำเลยทั้งสองส่วนฟ้องแย้งนั้นเห็นว่า ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้งคืนค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสอง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีในฐานะผู้รับประโยชน์ตามสัญญาในเอกสารท้ายฟ้องและได้แสดงเจตนาแก่โจทก์เพื่อถือประโยชน์จากสัญญาในเอกสารท้ายฟ้อง ตั้งแต่โจทก์รับโอนบ้านพร้อมที่ดินตามที่ระบุไว้ในเอกสารท้ายฟ้องไปแล้ว แต่โจทก์กลับเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ถอนแจ้งความร้องทุกข์ให้คดีอาญาเสร็จเด็ดขาด เป็นเหตุให้ผู้ร้องสอดได้รับความเสียหาย ผู้ร้องสอดกับพวกไม่สามารถขอคืนค่าปรับนายประกันซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ประกันตัวผู้ร้องสอดไว้ต่อศาลเป็นเงิน 500,000บาท ทั้งผู้ร้องสอดถูกพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและถูกออกหมายจับตั้งแต่ปี 2535 เป็นเหตุให้ผู้ร้องสอดต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งต้องขาดประโยชน์เดือนละ 30,000 บาทจึงขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยทั้งสอง ยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องสอดไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลของคดี จึงให้ยกคำร้อง
จำเลย ทั้ง สอง และ ผู้ร้องสอด อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง และ ผู้ร้องสอด ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก่อนว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความ ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำไว้ต่อหน้าศาลในคดีอาญา เรียกเงินจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่ 15 มกราคม 2538 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ในเวลาที่กำหนด จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวในข้อหายักยอกทรัพย์ ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถขอคืนเงินค่าปรับนายประกันจากศาลแขวงพระนครใต้ที่สั่งปรับนายประกันเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ได้ และความเสียหายส่วนนี้เมื่อนำมาหักกลบกับจำนวนเงินตามฟ้อง แล้วจำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์อีกและการที่โจทก์ไม่ดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ร้องสอดต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่สามารถทำการงานเป็นหลักแหล่งได้ จึงให้โจทก์ชำระค่าเสียหายส่วนนี้แก่จำเลยทั้งสองนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องจำนวน 360,000 บาท และนับถัดจากวันฟ้องอีกเดือนละ 15,000 บาท จนกว่าโจทก์จะดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์นั้น เห็นว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับการขอคืนเงินค่าปรับนายประกันนั้นเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขเพราะไม่แน่ว่าจำเลยทั้งสองจะขอคืนเงินค่าปรับที่ศาลแขวงพระนครใต้สั่งปรับนายประกันได้หรือไม่ ทั้งการนำเงินที่ได้คืนจากค่าปรับเพื่อนำมาหักกลบกับเงินที่ต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความนั้น ก็มิได้มีอยู่ในข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ได้ทำไว้ต่อกัน ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้ออ้างที่ยกขึ้นมาใหม่ และในส่วนของค่าเสียหายที่ผู้ร้องสอดไม่ได้ทำงานก็เป็นความเสียหายของผู้ร้องสอด มิใช่ความเสียหายของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใดฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย
สำหรับฎีกาของผู้ร้องสอดที่ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำต่อหน้าศาลในคดีอาญา เพื่อให้คดีแพ่งคดีอาญาต่าง ๆเสร็จเด็ดขาดไปทุกเรื่อง และในคดีดังกล่าวผู้ร้องสอดเป็นจำเลยที่ 1เมื่อผู้ร้องสอดและบิดาของผู้ร้องสอดได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 2 แปลง แต่โจทก์ไม่ถอนแจ้งความร้องทุกข์ในคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวนตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งผู้ร้องสอดเป็นผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญาดังกล่าว ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ได้กระทำต่อหน้าศาล เพราะยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์อีก500,000 บาท จึงเป็นเรื่องโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเท่านั้น หาได้เกี่ยวกับผู้ร้องสอดไม่ ผู้ร้องสอดจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่จะใช้สิทธิในการร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57
พิพากษายืน

Share