แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในการพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าว่าคล้ายกันหรือไม่นี้ จะต้องพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมาย มิได้พิจารณาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังต้องพิจารณาในส่วนของเสียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนด้วยเพราะต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้นๆ เป็นสำคัญว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้าหรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้านั้นได้หรือไม่
สำหรับคดีนี้ หากกลุ่มผู้บริโภคไม่ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำเครื่องหมายการค้านั้นมาพิจารณาเปรียบเทียบพร้อมกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าในการเลือกสินค้า โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของเครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว อาจเกิดความสับสนในการเลือกสินค้าหรือแยกแยะเจ้าของสินค้าได้ ถือว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 1002/2546 และมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 403362 ของโจทก์
จำเลยทั้งสิบให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “แครี่” ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31 รายการสินค้าแกลบบดใช้ผสมอาหารสำหรับสัตว์ แต่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อ้างว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือเครื่องหมายการค้าคำว่า “คาร์รี่” และ “KARRY” ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 32 รายการสินค้าอาหารสัตว์ เมล็ดพืช ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าว่าคล้ายกันหรือไม่นี้ จะต้องพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมาย มิได้พิจารณาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังต้องพิจารณาในส่วนของเสียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนด้วย เพราะต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้นๆ เป็นสำคัญว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้า หรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้านั้นได้หรือไม่ สำหรับคดีนี้ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเป็นอักษรไทยว่า “แครี่” ส่วนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นอักษรไทยคำว่า “คาร์รี่” และอักษรโรมันคำว่า “KARRY” จึงเห็นถึงความคล้ายกันว่าในส่วนของอักษรไทยนั้น จะมีลักษณะที่เป็นคำสะกดเลียนเสียงมาจากภาษาอังกฤษทำนองเดียวกัน และในพยางค์แรกมีพยัญชนะ “ค” เหมือนกัน แต่ตางกันในรูปสระ กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปเป็นสระ “แอ” ในขณะที่เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วมีรูปเป็นสระ “อา” โดยมีตัว “ร์” ประกอบและมีพยางค์หลังเหมือนกันคือ “รี่” ส่วนภาษาอังกฤษที่มีการเลียนเสียงมาเป็นภาษาไทยนั้นเป็นคำว่า “CARRY” และ “KARRY” จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายกันมากโดยแตกต่างกันเพียงอักษรโรมันตัวแรกระหว่าง “C” กับ “K” เท่านั้น ซึ่งสามารถออกเสียงในลักษณะเดียวกันได้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาในส่วนของเสียงเรียกขานจะเห็นได้ว่าคล้ายกันมากเช่นเดียวกัน ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งในส่วนนี้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของผู้คัดค้านมีเสียงใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากภาษาอังกฤษซึ่งโจทก์เลียนเสียงมาเป็นเครื่องหมายการค้าอักษรไทยนั้นอาจออกเสียงว่า “แครี่” หรือ “คาร์รี่” ได้เช่นเดียวกัน สำหรับจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นก็ปรากฏว่าเป็นจำพวกและรายการสินค้าที่เหมือนหรือมีส่วนสัมพันธ์กัน โดยโจทก์ขอจะจดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31 รายการสินค้าแกลบบดใช้ผสมอาหารสำหรับสัตว์ ส่วนของผู้คัดค้านใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31 รายการสินค้าอาหารสัตว์ เมล็ดพืช ทำให้กลุ่มผู้บริโภคสินค้าเป็นกลุ่มเดียวกัน หากกลุ่มผู้บริโภคไม่ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำเครื่องหมายการค้านั้นมาพิจารณาเปรียบเทียบพร้อมกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าในการเลือกสินค้า โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของเครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว อาจเกิดความสับสนในการเลือกสินค้าหรือแยกแยะเจ้าของสินค้าได้ ถือว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ามาอย่างแพร่หลายเป็นเวลานานนั้น คงปรากฏจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของโจทก์เพียงว่า โจทก์ใช้ชื่อและตราเครื่องหมายการค้า “แครี่” กับสินค้าของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2528 และได้รับการวิเคราะห์จากบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิเคราะห์ จึงทำให้สินค้าของโจทก์ขายดี มีตัวแทนผลิตและจัดจำหน่ายหลายบริษัทเท่านั้น นอกจากนั้นโจทก์ได้นำพยานบุคคลซึ่งเคยซื้อสินค้าจากโจทก์ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบันอีกเพียงปากเดียวมาเบิกความ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่าสินค้าของโจทก์มีปริมาณการจำหน่ายจำนวนมากหรือมีการโฆษณาเป็นที่แพร่หลายตามหลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นๆ ของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ