แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเขียนอุทธรณ์ของโจทก์จะต้องตรวจดูถ้อยคำต่าง ๆในคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยละเอียดเพื่อหาข้อโต้แย้งทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยมิฉะนั้นอาจไม่เป็นอุทธรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงจำต้องมีสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้ประกอบการเขียนอุทธรณ์และโจทก์ก็ยื่นคำแถลงขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลชั้นต้นแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นไม่สามารถจัดการให้โจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดระยะเวลา อุทธรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการบังคับของโจทก์ การที่ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงถือเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ศาลชอบที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน353,038.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน287,729.45 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 97716ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม2539 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2540 โจทก์นำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันมีคำสั่งซึ่งขณะนี้ใกล้จะครบกำหนดแล้วแต่โจทก์ยังไม่ทราบคำพิพากษาศาลชั้นต้นขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วันนับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยจึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540แต่โจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า ที่โจทก์ไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ถือเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ เห็นว่าการเขียนอุทธรณ์จะต้องตรวจดูถ้อยคำต่าง ๆ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยละเอียดเพื่อหาข้อโต้แย้งทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัย มิฉะนั้นอาจไม่เป็นอุทธรณ์ตามกฎหมาย จึงจำต้องมีสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้ประกอบการเขียนอุทธรณ์และโจทก์ก็ยื่นคำแถลงขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลชั้นต้นแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นไม่สามารถจัดการให้โจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการบังคับของโจทก์ การที่โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงถือเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ศาลชอบที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์อีก 15 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้