แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส. เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยร่วม ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้จำเลยร่วมชำระโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึง ส. ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยร่วม ถือได้ว่าจำเลยร่วมได้รับหนังสือ ให้ชำระภาษีอากรดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก แล้ว หากจำเลยร่วมเห็นว่าการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงาน ประเมินไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไรก็ชอบจะใช้สิทธิอุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 แต่จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายดังกล่าว หนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวย่อมเด็ดขาด โจทก์ได้แนบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญ ครั้งที่ตั้งบริษัทมาท้ายฟ้อง แต่จำเลยที่ 3 หาได้โต้แย้ง คัดค้านความไม่ถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ไม่ยิ่งกว่านั้นสำเนาเอกสารดังกล่าว นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสาร ดังกล่าว ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบพยานถึงความถูกต้องของ สำเนาเอกสารดังกล่าวก็รับฟังเอกสารดังกล่าวได้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชำระค่าหุ้นที่จำเลยทั้งสามยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนถืออยู่เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยร่วมจึงเป็นการใช้สิทธิ เรียกร้องเพื่อมาชำระภาษีอากร ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167(เดิม) อันเป็นกฎหมาย ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.1/1037/2/04986 และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายที่ ต.1/1037/1/02013ให้จำเลยร่วมชำระเงิน 283,490 บาท และ 40,025.62 บาทตามลำดับ ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.28 และ จ.29 จำเลยร่วมได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2529 นอกจากนี้เจ้าพนักงานประเมินยังมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.1/1037/2/05150 และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายที่ ต.1/1037/1/225596 ให้จำเลยร่วมชำระเงิน122,976 บาท และ 1,486.43 บาท ตามลำดับ ภายใน 30 วันนับแต่วันรับหนังสือดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.60 และ จ.61 จำเลยร่วมได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2529 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน ภาษีอากร ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือ แจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้จำเลยร่วมทราบจึงถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามกฎหมายเพื่อให้ลูกหนี้ ใช้หนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้อง อันมีผลให้ลูกหนี้อาจต้องถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาลการสั่งบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้ทำการอันใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้อง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167(เดิม) ซึ่งมีผลทำให้อายุความสิทธิเรียกร้องหนี้ ค่าภาษีอากรตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือ แจ้งภาษีเงินได้บุคคลหัก ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.28 จ.29 สะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2529 และสิทธิเรียกร้องหนี้ภาษีอากรตามหนังสือภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือ แจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.60และ จ.61 สะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2529แล้วเริ่มนับอายุความใหม่เมื่อพ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2529 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2529 ตามลำดับสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามเอกสารหมาย จ.28 และ จ.29 จึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2529 ส่วนสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้ นิติบุคคลและหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามเอกสารหมาย จ.60 และ จ.61 เริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9ธันวาคม 2534 จึงยังไม่ล่วงพ้นกำหนดอายุความ 10 ปีคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน529,271.25 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสามรับผิดไม่เกินจำนวนค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนถืออยู่
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทคิงลี่ออร์แกนไนเซชั่น จำกัด ลูกหนี้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยร่วมได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายและนำส่งครบถ้วนแล้ว สิทธิเรียกร้องภาษีอากรค้างของโจทก์ขาดอายุความ ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระค่าหุ้นเต็มตามมูลค่าหุ้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้ชำระอีก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน529,271.25 บาท แก่โจทก์ ทั้งนี้โดยให้จำเลยทั้งสามรับผิดไม่เกินจำนวนค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนถืออยู่
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชำระเงิน529,271.25 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินไม่เกินจำนวนค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่ 60,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาสำหรับคดีของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ประการแรกว่า นายบัณฑิต บุณยะปานะ อธิบดีของโจทก์แต่งตั้งนายเดชอุดม วีระวานิช พนักงานอัยการกองแพ่งเป็นทนายความฟ้องคดีหรือไม่ จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ฎีกาว่า ร้อยโทบุณยนิธย์ สิมะเสถียร นิติกรของโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ลอย ๆ ว่า นายบัณฑิตมีตำแหน่งเป็นอธิบดีของโจทก์ได้แต่งตั้งนายเดชอุดมเป็นทนายความฟ้องคดี โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนให้เห็นว่านายบัณฑิตเป็นอธิบดีของโจทก์ที่จะแต่งตั้งทนายความแทนโจทก์ได้ และตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ยืนยันว่านายบัณฑิตลงลายมือชื่อแต่งตั้งนายเดชอุดมต่อหน้าพยานทั้งมิได้นำสืบพยานถึงฐานะการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายบัณฑิตเป็นอธิบดีของโจทก์มีอำนาจทำการแต่งตั้งนายเดชอุดมเป็นทนายความฟ้องคดีแทนโจทก์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 3 เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 รับว่านายบัณฑิตเป็นอธิบดีของโจทก์ เพียงแต่ปฏิเสธว่าลายมือชื่อในใบแต่งทนายความโจทก์ไม่ใช่ลายมือชื่อของนายบัณฑิตโจทก์มีร้อยโทบุณยนิธย์ เป็นพยานยืนยันว่า นายบัณฑิตแต่งตั้งนายเดชอุดมเป็นทนายความ จำเลยที่ 3 หาได้ซักค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น คำเบิกความของนายบุณยนิธย์ย่อมมีน้ำหนักให้ฟังได้ว่า นายบัณฑิตลงลายมือแต่งตั้งนายเดชอุดมเป็นทนายความฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ ในข้ออื่นนอกจากนี้เป็นข้อที่นอกเหนือไปจากที่จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ให้การไว้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ประการที่สองมีว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้จำเลยร่วมชำระตามเอกสารหมาย จ.28, จ.29, จ.60 และ จ.61 ถึงนายสมควรศรีเฟื่องฟุ้ง กรรมการผู้จัดการของจำเลยร่วมทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถือได้หรือไม่ว่าจำเลยร่วมได้รับหนังสือให้ชำระภาษีอากรดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก เห็นว่า นายสมควรเคยให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม2528 ตามสำเนาคำให้การของนายสมควรและนายเจมส์ แซ่อึม เอกสารหมาย จ.25 ว่า นายสมควรเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยร่วม ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้จำเลยร่วมชำระโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงนายสมควรซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยร่วม ถือได้ว่าจำเลยร่วมได้รับหนังสือให้ชำระภาษีอากรดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก แล้ว หากจำเลยร่วมเห็นว่า การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร ก็ชอบจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 แต่จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว หนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวย่อมเด็ดขาด จำเลยร่วมหมดสิทธิโต้แย้งว่า จำเลยร่วมปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยร่วมในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ไม่ว่าในทางฟ้องคดีหรือต่อสู้คดี ดังนี้ จำเลยที่ 1 กับที่ 3 จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เช่นว่านั้นขึ้นต่อสู้โจทก์ด้วย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ประการที่สามมีว่า จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ส่งใช้ค่าหุ้นตามมูลค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนถืออยู่ครบแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์มิได้นำสืบพยานถึงความถูกต้องของสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล(ที่ถูกเป็นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญครั้งที่ตั้งบริษัท) ตามเอกสารหมาย จ.70 ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ชำระค่าหุ้นเพียงร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้นประกอบกับข้อนำสืบของจำเลยที่ 1กับที่ 3 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ส่งใช้ค่าหุ้นครบมูลค่าหุ้นแล้ว ทั้งเจ้าพนักงานประเมินทราบดีว่า จำเลยร่วมย้ายออกจากอาคารที่ตั้งสำนักงานไปแล้ว ยังนำหนังสือที่มีถึงจำเลยร่วมให้เรียกผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้น จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมทราบหนังสือดังกล่าว และจำเลยที่ 1 กับที่ 3ไม่ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระค่าหุ้นจากโจทก์ เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ตอนแรกเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาสำหรับฎีกาของจำเลยที่ 3 เห็นว่า โจทก์ได้แนบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญครั้งที่ตั้งบริษัทตามเอกสารหมาย จ.70มาท้ายฟ้อง แต่จำเลยที่ 3 หาได้โต้แย้งคัดค้านความไม่ถูกต้องของสำเนาเอกสาร ดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ไม่ ยิ่งกว่านั้นสำเนาเอกสารดังกล่าวนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าว ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบพยานถึงความถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าวก็รับฟังเอกสารดังกล่าวได้ ตามเอกสารดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ชำระค่าหุ้นเพียงร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้นเท่านั้น โจทก์จึงมีหนังสือให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 3 ถืออยู่อีกร้อยละ 75 ซึ่งหากจำเลยที่ 3ชำระค่าหุ้นครบมูลค่าหุ้นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระค่าหุ้น จำเลยที่ 3 ย่อมจะต้องปฏิเสธต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ชำระค่าหุ้นครบมูลค่าหุ้นแล้ว แต่จำเลยที่ 3 หาได้กระทำไม่ ทั้งข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ที่ว่าจำเลยที่ 3 ชำระค่าหุ้นครบมูลค่าหุ้นแล้วคงมีแต่จำเลยที่ 3 เบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานการชำระค่าหุ้นตามที่อ้างมาแสดง ข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานหลักฐานฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ยังส่งใช้ค่าหุ้นไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 3 ถืออยู่ตามฟ้องส่วนที่จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยร่วมไม่ทราบหนังสือของโจทก์ให้เรียกผู้ถือหุ้นของจำเลยร่วมชำระค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถืออยู่ก็ดี จำเลยที่ 1 กับที่ 3ไม่ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนถืออยู่ก็ดี เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1กับที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชำระค่าหุ้นที่จำเลยทั้งสามยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนถืออยู่เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยร่วม ดังนี้ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อมาชำระภาษีอากรซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167(เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ และข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.1/1037/2/04986 และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ ต.1/1037/1/02013 ให้จำเลยร่วมชำระเงิน 283,490 บาท และ 40,025.62 บาท ตามลำดับ ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.28 และ จ.29 จำเลยร่วมได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2529ตามสำเนาใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.36 นอกจากนี้เจ้าพนักงานประเมินยังมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.1/1037/2/05150 และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ ต.1/1037/1/225596 ให้จำเลยร่วมชำระเงิน 122,976 บาท และ 1,486.43 บาท ตามลำดับ ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.60 และ จ.61 จำเลยร่วมได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2529 ตามสำเนาใบตอบรับไปรษณีย์ เอกสารหมาย จ.64 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินภาษีอากรตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้จำเลยร่วมทราบจึงถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามกฎหมายเพื่อให้ลูกหนี้ใช้หนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้อง อันมีผลให้ลูกหนี้อาจต้องถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล การสั่งบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้ทำการอันใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้อง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167(เดิม) ซึ่งมีผลทำให้อายุความสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีอากรตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.28 จ.29 สะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2529 และสิทธิเรียกร้องหนี้ภาษีอากรตามหนังสือภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.60 และ จ.61 สะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2529 แล้วเริ่มนับอายุความใหม่ เมื่อพ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2529 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2529 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามเอกสารหมาย จ.28 และ จ.29 จึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2529 ส่วนสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามเอกสารหมาย จ.60 และ จ.61 เริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 จึงยังไม่ล่วงพ้นกำหนดอายุความ 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน