คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1177/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ.มาตรา 1548 วรรคแรก บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้ว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.(ฉบับที่ 10)พ.ศ.2533 มาตรา 32 โดยข้อความเดิมได้บัญญัติถึงการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะกระทำได้ต่อเมื่อเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ประสงค์วางหลักเกณฑ์ไว้เข้มงวดกว่าเดิมว่าการที่บิดาจะจดเบียนบุตรนอกกฎหมายให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะกระทำได้ต่อเมื่อทั้งเด็กและมารดาเด็กให้ความยินยอม มิใช่เพียงแต่เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาดังบัญญัติไว้เดิม นอกจากนี้ป.พ.พ.มาตรา 1548 ได้บัญญัติถึงทางแก้ในกรณีที่เด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ไว้ในวรรคสามและวรรคสี่ โดยวรรคสามว่า “ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ไช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล” และวรรคสี่ว่า “เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้” อันเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นชัดเจนว่า ตามมาตรา 1548 วรรคแรก ประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว จึงได้บัญญัติทางแก้ไขในกรณีเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ดังกล่าวมาแล้ว โจทก์ที่ 2 ซึ่งแม้เป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ที่ 3 จึงไม่อาจให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่ 3 ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติให้โจทก์ที่ 2 ทำการแทนโจทก์ที่ 3 ในกรณีดังกล่าวได้ ดังนั้น กรณีที่โจทก์ที่ 3ต้องให้ความยินยอมในการที่โจทก์ที่ 1 จะจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1548 วรรคแรก จึงเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 3 ต้องกระทำด้วยตนเอง

Share