คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4010/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืม รับจำนอง เดิมชื่อบริษัท ท.จำกัดต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเป็นบริษัทเงินทุน ท.จำกัด มีรายละเอียดตามหนังสือรับรองท้ายฟ้องดังนี้ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นบริษัทเงินทุนและเป็นสถาบันการเงินตามพ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ.2523 อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 654 ที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีมาปรับแก่คดี
โจทก์เรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากจำเลยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปีเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475 ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์หมดสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามสัญญา แต่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยโดยเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืม รับจำนอง รับจำนำ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 300,000 บาท โดยยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว หลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง จำเลยทั้งสองไม่เคยกู้เงินโจทก์ ดอกเบี้ยตามสัญญากู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปีตามฟ้องหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้เงิน รับจำนอง รับจำนำ เดิมโจทก์ชื่อบริษัทไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2522ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเป็นบริษัทเงินทุนไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ท้ายฟ้องซึ่งรับรองว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ดังนี้ เห็นว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นบริษัทเงินทุนและเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้ให้กู้ยืมได้เป็นพิเศษตามกฎหมายดังกล่าวกรณีจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ สิบห้าต่อปีมาปรับแก่คดีการที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี จึงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะย่อมมีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญา แต่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยโดยเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share